4795 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกของ บมจ. ฟู้ดโมเม้นท์ (FM) สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะคนที่ได้หุ้นจอง เมื่อราคาหุ้นยืนต่ำจองทั้งวัน โดยหลังจากเปิดตลาดที่ 4.60 บาท ต่ำกว่าราคาจองที่ 5.40 บาท ถึง 80 สตางค์ คิดเป็นผลขาดทุน 14.81% มีแรงซื้อหนุนราคาให้ไต่ระดับขึ้นมา กระทั่งแตะจุดสูงสุดของวันที่ 4.90 บาท จากนั้น เริ่มเห็นแรงขายกระจายตัวออกมา กดให้ราคาหุ้นปรับฐานลงมาเป็นลำดับ แต่ก็มีแรงซื้อตั้งรับไว้ ส่งผลให้ราคาไม่หลุด 4.50 บาท ตลอดการซื้อขายภาคเช้า ก่อนจะค่อยๆ ปรับฐานลงในการซื้อขายภาคบ่าย เมื่อแรงซื้อเริ่มหดหายไป โดยราคาหุ้นไหลลงเป็นลำดับจนทำสถิติต่ำสุดที่ 4 บาท จากนั้นถึงเห็นแรงซื้อดันราคาขึ้นมาแกว่งบริเวณ 4.04-4.06 บาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทำราคาปิด (ATC) กลับมีแรงซื้อโถมเข้ามาอย่างหนาแน่น กระชากราคาปิดขึ้นมาที่ 4.16 บาท ต่ำจอง 1.24 บาท หรือเกือบ 23% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,420.49 ล้านบาท ส่งผลให้การซื้อขายวันที่สอง ราคาหุ้น FM ฟื้นตัวขึ้นมา โดยตลอดทั้งวันมีแรงซื้อดันราคาขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่งทำจุดสูงสุดที่ 5.05 บาท และปิดที่ 5 บาท ดีดตัวจากวันแรก 20.19% และเริ่มปรับฐานในการซื้อขายวันที่สาม เมื่อแรงซื้อหดหายลงไป ทำให้ราคาแกว่งบริเวณ 4.68-4.70 บาท ยังคงต่ำกว่าราคาจองเกินกว่า 10%
ในเรื่องนี้ นายทวีชัย ตั้งธนทรัพย์ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ (TSC) และนางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ซึ่งเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นร่วม ยอมรับว่า การอ่อนตัวของราคาหุ้นส่วนหนึ่งเกิดจากบรรยากาศการลงทุนไม่เอื้ออำนวย แต่ยืนยันว่า FM เป็นบริษัทฯ ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีอัตรากําไรขั้นต้นสูงระดับ 15-20% หรือประมาณ 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังมีศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน จากการเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิต
ยิ่งบริษัทฯ ให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีในการผลิตอาหาร (Food Tech) ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ร่วมกับลูกค้า ยิ่งทําให้บริษัทฯ สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ สร้างโอกาสต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว ดังนั้น การอ่อนตัวของราคาหุ้น ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเก็บหุ้นคุณภาพเข้าพอร์ต
แต่ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร นายณัฐพล ดุษฎีโหนด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FM เปิดเผยว่า พร้อมมุ่งมั่นทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการส่งออกไก่แปรรูปปรุงสุกของไทยตามเป้าหมายที่วางไว้ ผ่านการนำเงินระดมทุนไปใช้ปรับปรุงสายการผลิตเดิม และขยายกำลังการผลิตใหม่เพิ่มอีก 25-30% เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าเดิม และการขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มตะวันออกกลาง ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ รวมถึงลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของไก่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มจาก 50% เป็น 65% ซึ่งจะทำให้รายได้ใน 3 ปีข้างหน้าเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น เฉพาะปีนี้ เชื่อมั่นว่า จะเห็นการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 20%
พร้อมกันนี้ เขาได้ยืนยันอย่างหนักแน่นด้วยว่า ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ครอบครัวดุษฎีโหนดยังคง Lock Up หุ้นทั้งหมด เช่นเดียวกับกองทุน นอร์ทเฮเว่น ไทย ไพรเวท อิควิตี้ ที่ยังถือหุ้นครบ และไม่ได้ขายออกมาเลย เพราะมีกฎระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่า กองทุนห้ามซื้อขายหุ้นก่อนประกาศงบการเงินเป็นเวลา 30 วัน
ขณะที่นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล (OptAsia) ที่ปรึกษาทางการเงิน ยังคงย้ำว่า FM ถือเป็นหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโต เข้าข่ายทั้งหุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นปันผล (Dividend Stock) ได้อย่างแน่นอน จากการที่บริษัทฯ มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีสัดส่วนหนี้สินในระดับต่ำ มีแผนต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจที่ชัดเจน ดังนั้น การได้เงินทุนมาช่วยสนับสนุนฐานทุนให้แข็งแรงมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มศักยภาพการเติบโตได้มากขึ้น สะท้อนผ่านบทวิเคราะห์ของ MST และ TSC ที่คาดการณ์การเติบโตของกำไร 3 ปีนี้ (ปี 2567-69) เฉลี่ยปีละ 31% และ 46% ตามลำดับ สาเหตุจากการขยายกำลังการผลิต การขยายตลาด การเพิ่มยอดขายสินค้าไก่แปรรูปปรุงสุก (CAV Products) ซึ่งมีอัตรากำไรสูง สอดคล้องกับความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่ยังครองอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค ตลอดจนการเติบโตจากธุรกิจใหม่ อาหารสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ทั้ง 2 ค่ายประเมินมูลค่าเหมาะสมของ FM สูงถึง 8.90 บาท และ 8.30 บาท ตามลำดับ