4845 จำนวนผู้เข้าชม |
นางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ. อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง (IROYAL) เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 58 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.22% ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 6.50 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ระหว่างวันที่ 24 - 25 และ 28 ตุลาคมนี้ ผ่านบริษัทฯ และผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) บมจ. หลักทรัพย์ พาย (Pi) และ บมจ. หลักทรัพย์ ไอร่า (AIRA) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ การตั้งราคา IPO ที่ 6.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 15.83 เท่า เมื่อคำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งถือได้ว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนกระบวนการผลิต หรือการทำงาน ของโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถลดผลกระทบหรือแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงให้บริการงานด้านวิศวกรรม ทั้งการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุง การออกแบบ ให้คำปรึกษา และนำเสนอโซลูชั่น ทั้งเชิงบำรุงรักษา ด้วยการนำเสนออุปกรณ์ชนิดเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว เมื่อครบรอบอายุการใช้งาน กับเชิงพัฒนา ด้วยการนำเสนออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม หรือนำเสนออุปกรณ์เสริม ติดตั้งเพิ่มเติมควบคู่กับอุปกรณ์เดิม สร้างการยอมรับจากลูกค้าในและต่างประเทศมายาวนานกว่า 40 ปี
สำหรับจุดเด่นของบริษัทฯ อยู่ที่การมีสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring income) สูงถึง 50-60% ของรายได้รวม ตอกย้ำให้เห็นถึงความไว้วางใจที่กลุ่มลูกค้ามีต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้า ซึ่งจะมีแผนซ่อมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ และต้องอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะ ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ (High-switching costs) อีกทั้งการเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งใหม่ๆ ทำได้ยากเช่นกัน (High barrier to entry) ยิ่งบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนกว่า 78% ไปใช้ในการประมูลและค้ำประกันผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายฐานรายได้ สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคต
ด้านนายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IROYAL ชี้แจงว่า การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสทางธุรกิจ ตอบความต้องการของลูกค้าหลักกลุ่มโรงไฟฟ้า และการขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และระบบวิศวกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างครบวงจร เพิ่มเติมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบต่างๆ มากกว่า 22 แบรนด์ ครอบคลุม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบเผาไหม้ (Combustion System) เช่น อุปกรณ์กำจัดเขม่าควัน (Soot Blower) อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Heating Element) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) เช่น ระบบระบายอากาศ และพัดลมอุตสาหกรรม อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองชนิดไฟฟ้าสถิตย์ อุปกรณ์ดักจับละอองน้ำ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger System) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบน้ำ (Water System) หรือระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน (Uninterruptible Power Supply System) สร้างประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างยั่งยืนมากกว่าแค่การให้บริการทั่วไป สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) บริษัทฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นปี 2565 ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าเร่งซื้อผลิตภัณฑ์ในส่วนงานที่จำเป็น ทั้งผลิตภัณฑ์เดิมที่ถึงกำหนดเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน และผลิตภัณฑ์ใหม่ จากกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2564 เพราะกังวลความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่เกิดในปี 2563 กดดันให้รายได้ชะลอตัว จาก 196.78 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 116.98 ล้านบาท ก่อนเติบโตเป็น 280.38 ล้านบาท ในปี 2566 ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงตามไปด้วย จาก 35.36 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 27.94 ล้านบาท ก่อนขยายตัวเป็น 72.22 ล้านบาท สาเหตุจากบริษัทฯ มีการบริหารต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่วางไว้
ขณะที่ผลดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 118.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.07% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 44.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น ตามรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนรายการและปริมาณผลิตภัณฑ์ อีกทั้งบริษัทฯ สามารถควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง