6 กองทุนมองการลงทุนปี 2556 ตลาดหุ้นเกิดใหม่น่าจะโดดเด่น แต่ไม่ต้องรีบ คาดครึ่งปีแรกผันผวนสูง แนะเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ระยะสั้นแทน

3202 จำนวนผู้เข้าชม  | 

6 กองทุนมองการลงทุนปี 2556 ตลาดหุ้นเกิดใหม่น่าจะโดดเด่น แต่ไม่ต้องรีบ คาดครึ่งปีแรกผันผวนสูง แนะเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ระยะสั้นแทน


การที่ภาวะเศรษฐกิจปีหน้า ถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจเติบโตน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี และมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในตลาดพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ส่วนตลาดเกิดใหม่อย่างจีน แม้จะไม่ถึงขนาดเกิดเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็เติบโตช้าลง ดังนั้นการจัดพอร์ตโดยรวมจึงต้องเน้นจัดพอร์ตลงทุนแบบเชิงรับในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตช้า นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนโดยรวมยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงอยู่ ทำให้การลงทุนต้องปรับพอร์ตให้รวดเร็วขึ้น และเจาะจงลงทุนในบางกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบางประเทศแทน

ในมุมมองผู้จัดการกองทุนไทย อย่าง ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี  (MFC) รวมถึงนายวโรฤทธิ์ จีระชน Head of Investment Research บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์  (SCBAM) และนายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อิสท์สปริง ประเทศไทย (Eastspring) มีมุมมองคล้ายๆ กันว่า บรรยากาศการลงทุนช่วงครึ่งแรกปี 2566 น่าจะมีความผันผวนต่อเนื่องจากปีนี้ จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ และยุโรป

 

 

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสจะเกิดการถดถอยทางเทคนิคค่อนข้างสูง คือเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะมีผลให้ภาพเศรษฐกิจทั้งปียังเติบโตได้ 0.4% ส่วนยุโรปน่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเต็มตัว แต่ไม่รุนแรงมาก คาดเฉลี่ยทั้งปีที่ติดลบ 0.1-0.2% ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะล่าช้ากว่าสหรัฐฯ

ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนหุ้นจะย้ายมาอยู่ที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ นำโดยจีน และเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี มูลค่าหุ้นค่อนข้างถูก แต่จีนมีโอกาสฟื้นตัวก่อน เพราะประชากรมีเงินออมสูงพร้อมใช้จ่ายเมื่อเปิดเมืองแล้ว โดยแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมหุ้นจีนได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่วนเวียดนามมีความน่าสนใจเพราะมีเรื่องราวการเติบโตที่ดี แต่มีความเสี่ยงเรื่องการจัดการภายในอยู่ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่อื่นๆ จะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน โดยเฉพาะหุ้นที่มีการค้าขายกับจีนในสัดส่วนที่สูงจะได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร 3 กองทุนรวมไทย ยังบอกด้วยว่า นักลงทุนอาจกระจายพอร์ตลงทุนหุ้นไปในตลาดพัฒนาแล้วได้ เพราะยังมีหุ้นที่ราคาปรับลงมามาก อย่างหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์  หรือหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ปกติจะทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นใหญ่ในช่วงหลังจากเศรษฐกิจถดถอยผ่านพ้นไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีหน้า ซึ่งผู้บริหาร SCBAM แนะให้รอซื้อหลังตลาดลงไปถึงจุดต่ำสุด (bottom) แล้ว เพราะจากการศึกษา พบว่า มีโอกาสที่ดีกว่าการเข้าไปซื้อในช่วงก่อนถึงจุดต่ำสุด

ขณะที่ผู้บริหาร MFC ชี้ว่า หากต้องการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต้องเน้นหุ้นที่การเติบโตแข็งแกร่ง ผลดำเนินงานดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ โดยการลงทุนแบบคัดเลือกหุ้นรายตัวยังมีโอกาสที่ดีอยู่ ส่วนหุ้นยุโรป ควรเน้นหุ้นกลุ่มโลจิสติกส์ หรือหุ้นกลุ่มที่มีรายได้หลักจากนอกยุโรป และผลดำเนินงานยังเติบโตได้ดี มากกว่าการลงทุนบนดัชนีหุ้นยุโรปโดยรวม

 



สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ทางผู้บริหาร MFC และ Eastspring คิดคล้ายๆ กันว่า ควรลงทุนแบบตั้งรับเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งจะได้ประโยชน์เมื่อผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ปรับลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ส่วนหุ้นกู้ควรเน้นกลุ่ม Investment Grade ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก กลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (Global Reit) ให้น้ำหนักกับกองที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ภูมิภาคเอเชีย เพราะมีโครงสร้างจ่ายเงินปันผลสูงและการเติบโตสูง โดยให้น้ำหนักกลุ่มที่อยู่ในธีมโลจิสติกส์ และธีมเปิดเมือง

ทั้งนี้ มีคำเตือนด้วยว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะต้องคอยติดตาม โดยเฉพาะโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยซ้ำรอบสอง ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นความกังวลในประเด็นนี้ตั้งแต่ต้นปี และกลางปี เพราะหากเป็นเช่นนั้น Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบเพื่อสู้เงินเฟ้อปลายปี 2566 ซึ่งจะทำให้ความหวังที่สินทรัพย์เสี่ยงจะปรับขึ้นช่วงครึ่งปีหลังพังลงได้

สำหรับความเห็นผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ อย่างกองทุน Schroders และ Blackrock ทั้งนายอาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business Schroders Investment Management (Singapore) และนายธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business, BlackRock  บอกว่า ยังไม่ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นมาก เนื่องจากมองว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลงไปมาก จึงทำให้มีแรงซื้อกลับที่เรียกว่า Bear Run แต่เชื่อว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยสะท้อนเข้าไปในผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จะเริ่มเห็นการขายหุ้นออกมา และกดดันตลาดให้ปรับฐานอีกครั้ง จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบกลับเข้าไปในหุ้น แต่คาดว่าอาจเพิ่มน้ำหนักในช่วงปลายปี 2566  

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ มองว่าหุ้นกู้ที่มีเครดิตอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ของบริษัทที่มีฐานะการเงินดี และผลดำเนินงานที่ยังไปได้ในช่วงวิกฤตโควิดเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะราคาปรับลงมามากในช่วงปีนี้ และยังให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ โดยไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในระดับต่ำกว่าระดับที่ลงทุน (Non-Investment Grade)

 



ผู้บริหารกองทุน Schroders  ยังพูดถึง Theme การลงทุนที่น่าสนใจด้วยว่า มี 3 Theme ได้แก่ Regime Change คือ จากที่คุ้นเคยกันเรื่องดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อต่ำ จะไม่มีอีกแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นภาวะที่เป็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง จึงแนะนำการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่จะได้ประโยชน์ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นถึงไตรมาสแรกและคงในระดับสูงตลอดปีหน้า แต่เน้นไปที่หุ้นกู้บริษัทที่ฐานะการเงินดี อยู่ในระดับ Investment Grade รวมถึง Securitization Credit หรือตราสารหนี้ที่มาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เน้นไปที่สินทรัพย์ที่มีรัฐบาลหนุนหลังอยู่ ซึ่งมีผลตอบแทนแบบลอยตัว ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจอีกประเภทคือ สินทรัพย์จริง (Real asset) เช่น สินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างที่ป้องกันความสี่ยงเงินเฟ้อได้

ธีมต่อมา คือ Diversification คือการมองหาสินทรัพย์ให้การจัดพอร์ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า หุ้น และตราสารหนี้ทั่วไป มีผลตอบแทนไปทางเดียวกัน ทำให้การกระจายสินทรัพย์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงมองหาทางเลือกอื่นเพื่อจัดพอร์ตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Private Equity ของกลุ่มที่ไปซื้อกิจการมาบริหารต่อ หรือ Private Debt ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนสไตล์ Hedge Fund หรือเรียกว่า Liquid Alternative ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทั่วไปต่ำ จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตได้

และธีมสุดท้ายคือ ธีม Sustainability หรือการลงทุนยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะจากประเด็นที่โลกตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์  

ส่วนนายธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business, BlackRock พูดถึงการลงทุนในหุ้นว่า ในช่วงไตรมาส 1-3 ควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะภาพเศรษฐกิจยังไม่สะท้อนลงไปในราคาหุ้นเลย และอาจเพิ่มน้ำหนักในช่วงปลายปี 2566 จนถึงปี 2567 เป็นต้นไป โดยในช่วงนี้หากลงทุนในหุ้น อาจเน้นกลุ่มที่ทำผลงานได้ดีกว่าช่วงเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มยา เครื่องมือการแพทย์ ที่มีความผันผวนต่ำ หรือกลุ่มพลังงานที่ได้ประโยชน์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังมีอยู่ หรือในกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำผลงานได้ดี และเศรษฐกิจขาขึ้น กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มแรกที่ฟื้นตัว นอกจากนี้กลุ่มการลงทุนยั่งยืนก็น่าสนใจ เพราะทั่วโลกมีเป้าหมายต้องการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องลงทุนในกลุ่มนี้ 

สำหรับการลงทุนใน Private Asset ให้เน้นไปที่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน เพราะมีความต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูง ทำให้นักลงทุนสถาบัน กลุ่มนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง สนใจผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น ในช่วงที่ตลาดผันผวน

 



ขณะที่นายอิทธิพล ประสงค์ทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์  จูเลียสแบร์ (SCB Julius Bear) ไพรเวทแบงก์ของกลุ่มไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก อาจลงทุนแค่หุ้นกู้คุณภาพดีอยู่ในระดับ Investment Grade ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะให้ผลตอบแทนที่ดี โดยอาจจะผสมระหว่างพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น กับหุ้นกู้ระยะยาวคุณภาพดีเข้าด้วยกัน ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น ก็มองว่า ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักสำหรับการลงทุนระยะยาวอยู่ โดยอาจผสมหุ้นเติบโตกับหุ้นเชิงรับเข้าด้วยกัน ธีมหุ้นที่แนะนำคือกลุ่ม Next Generation ได้แก่ กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มเมืองแห่งอนาคต และไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่    

สำหรับสินทรัพย์ทางเลือก ควรมีติดไว้ในสัดส่วนไม่มาก เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ต โดยเฉพาะสินทรัพย์นอกตลาด หรือ Private Asset ทั้งกลุ่มหุ้น (Private Equity) และตราสารหนี้ (Private Credit) นอกจากนี้การลงทุนผ่านพอร์ตลงทุนที่ผู้จัดการปรับพอร์ตให้ตลอดเวลาอย่าง Multi Asset Allocation ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้