2396 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่เกิดในช่วงปี 2563-64 ทำให้นักลงทุนหันมาเลือกลงทุนในหุ้นเติบโตสูง (Growth stock) อย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างคึกคัก จนหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว แต่เมื่อภาพดอกเบี้ยเปลี่ยนไปในปีนี้ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกเทขายอย่างหนัก เกิดการโยกเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือหุ้นกลุ่มที่แนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรมีความเสี่ยงต่ำกว่า (Defensive stock) แทน เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้น
ล่าสุด นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Fund) ออกมาให้ความเห็นว่า ถึงเวลาที่นักลงทุนควรให้ความสนใจลงทุนหุ้นกลุ่ม Financial Services ของสหรัฐฯ ซึ่งมีครบทั้งธนาคาร (Banking) ตลาดทุน (Capital Market) ประกัน (Insurance) และตัวกลางในการชำระเงินระหว่างร้านค้า กับสถาบันการเงิน (Electronic Payment Network) แล้ว เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้รายงานงบการเงินไตรมาส 3 ค่อนข้างดี เทียบกับราคาที่ยังต่ำ
อย่างหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Bank of America, CITI, JP Morgan และ Wells Fargo มีกำไรดีกว่าคาด 15% รายได้สูงกว่าคาด 3% ขณะที่การตั้งสำรองต่ำกว่าคาด ซึ่งเมื่อลงลึกรายละเอียดเพิ่มเติม ก็พบว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income: NII) เพิ่มขึ้น 0.11% จากไตรมาสก่อน และ 0.22% จากปีก่อน ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้น 0.27% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 0.43% จากปีก่อน
หรือหุ้นกลุ่ม Electronic Payment Network อย่าง VISA, American Express ต่างก็มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้ของ VISA และ American Express เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน 19% และ 24% ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้น 13% และ 9% ตามลำดับ หนุนโดยธุรกรรมการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากโดยมีการคาดหมายกันว่าอาจสูงถึง 5 เท่า เป็น 255 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับทางเลือกในการลงทุนหุ้นกลุ่ม Financial Services ของสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจนของรายได้และกำไรที่มากกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ในสถานการณ์ปัจจุบัน LH Fund มีกองทุน LHUSFIN ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้น U.S. Financial Services ผ่านกองทุนหลักคือ iShares US Financial Services ETF เป็นหนึ่งตัวเลือกให้นักลงทุน โดยนักวิเคราะห์คาดว่าหุ้น 10 ตัวแรกรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% ขณะที่กำไรต่อหุ้นเติบโตปีหนึ่งๆ ระดับ 13-15% ในปีนี้และปีหน้า และ valuation (forward P/E 12 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ 12 เท่า เทียบเท่า -1S.D. จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และต่ำกว่าดัชนี S&P500 ที่อยู่ที่ 16.4 เท่า