เชื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. 0.25% แม้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หากทอดยาว เศรษฐกิจไทยกระอัก

688 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. 0.25% แม้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หากทอดยาว เศรษฐกิจไทยกระอัก

การที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ยังมีความไม่แน่นอนสูง และส่อเค้าว่าจะมีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเติบโตต่ำ แต่เงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานสูง หรือภาวะ  Stagflation ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความยืดเยื้อของสงคราม และการออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ผลักดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน โลหะหนัก หรือผลผลิตทางการเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนฉุดให้ความมั่นใจของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง        

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) และ SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  มีมุมมองตรงกันว่า ความกังวลต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลักของรัสเซีย ทั้งปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี อลูมิเนียม ทองแดง และปุ๋ยเคมี ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อด้านพลังงานและอาหาร (Energy and Food Inflation) ในหลายประเทศให้มีแนวโน้มยืดเยื้อมากกว่าที่ธนาคารกลางและตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้

ซึ่งหากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นมีแนวโน้มยืดเยื้อ จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป จากแรงกดดันด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) และน่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศในเอเชียตามมาในที่สุด เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ มียกเว้นเพียงมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม SCB CIO เชื่อว่า ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว จะไม่ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงจนเกินไป เนื่องจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่เศรษฐกิจโลกถดถอย  ส่งผลให้การประชุม FOMC นัดแรกของปี ในวันที่ 15-16 มีนาคมที่จะถึงนี้ คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 25 bps ก่อนจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี ในอัตรา 150 bps 

ซึ่งเมื่อตรวจสอบมุมมองของนักวิเคราะห์ นักกลยุทธ์จากโบรกเกอร์ต่างๆ และผู้จัดการกองทุนหลายแห่ง ในบ้านเรา ทุกสำนักคิดเหมือนกันว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนมีนาคมนี้ เพียง 25 bps ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินบ้านเรา ก็ไม่น่าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามมาด้วย 

ส่วน K-Research อธิบายว่า ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มจะเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มที่จะยืนระดับสูงต่อเนื่อง เพราะความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน หลังจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร มีการออกมาตรการคว่ำบาตรระงับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากรัสเซีย ทำให้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปบั่นทอนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้อ่อนแอลง และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ดังนั้น Fed คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มจะทรงตัวในระดับสูง และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่อาจอ่อนแอกว่าที่คาด

โดยประเด็นที่น่าติดตาม คือ การเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคาดว่า Fed อาจปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อขึ้น และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง เมื่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่ากังวลเพิ่มขึ้น

ซึ่งข้อมูลล่าสุด พบว่า ตลาดมีมุมมองว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง โดยให้น้ำหนักไปที่ 7 ครั้งมากที่สุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.75-2.00%  

ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) เจาะลึกประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี

กรณีดีที่สุด (Best Case): ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือน มี.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ จะมีผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง 

กรณีฐาน (Base Case) : ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือน พ.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ จะมีผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง

กรณีเลวร้าย (Worst Case) : ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือน ส.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-ส.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง

ซึ่งทั้ง 3 กรณีนี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อบ้านเราช่วงครึ่งปีแรกน่าจะสูงเกิน 4% โดยเฉพาะในไตรมาสแรก (ทั้งในกรณีดีที่สุด และกรณีฐาน) จากอิทธิพลของฐานต่ำในปีก่อน และราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ก่อนจะทยอยปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มเร่งขึ้นที่ 3.4% (กรณีฐาน) และอาจเร่งสูงถึง 4.2% หากสถานการณ์ลากยาวออกไป (กรณีเลวร้าย) ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดค่าครองชีพที่อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากสถานการณ์รัสเซีย - ยูเครน ยืดเยื้อ หนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน มี.ค. เพียงเดือนเดียว ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับมุมมองเดิมที่ 3.8% แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ หนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจทำให้เศรษฐกิจปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากลากยาวถึง 6 เดือนหลังจากนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ค่อนข้างสูง  

ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในสัดส่วนที่สูง ตามการวิเคราะห์ต้นทุนผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output)



ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ได้ออกมาเสริมเรื่องผลกระทบจากราคาข้าวสาลี เพิ่มเติม โดยระบุว่า ในช่วงระยะเวลาราว 6 เดือนจากนี้ (มี.ค.-ก.ย.) ราคาข้าวสาลีนำเข้าน่าจะยืนในระดับสูง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอุปทานข้าวสาลีรับผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน จนเกิดการแย่งกันซื้อ และผลผลิตข้าวโพดไทยรอบใหม่ยังไม่ออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอาหารคน และอาหารสัตว์ให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรืออาจต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่สายการผลิต  

โดยอุตสาหกรรมอาหารคน บางประเภทอาจต้องหันมาใช้สินค้าพืชเกษตรอื่นเพื่อทดแทนข้าวสาลี แต่สินค้าหลายประเภทอาจหาสินค้าทดแทนได้ลำบาก เพราะเป็นไปตามสูตรการผลิตในสินค้าแต่ละรายการของผู้ประกอบการ อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และแม้จะมีการนำเข้าแป้งสาลีได้บางส่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบของการขาดแคลนอุปทาน แต่ผู้ประกอบการคงต้องเผชิญกับราคาแป้งสาลีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ คงต้องเผชิญการขาดแคลนวัตถุดิบ/ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูง  เนื่องจากผลผลิตข้าวสาลีในตลาดโลกที่ตึงตัว รวมถึงพืชเกษตรทดแทนอื่น อย่าง มันสำปะหลัง / ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็มีปริมาณผลผลิตน้อยตามฤดูกาล และยังต้องไปแย่งชิงมันสำปะหลังมาจากในภาคส่วนการผลิตพลังงานทดแทนด้วย จึงทำให้ผู้ประกอบการน่าจะต้องเผชิญความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท้ายที่สุด ผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ผลักดันให้ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาอาหารปลายทางที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้สูงขึ้นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ ตามราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ขนมปัง ตามราคาข้าวสาลีและราคาธัญพืชทดแทนที่สูงขึ้น

ยิ่งความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย - ยูเครน กินเวลานานยาวขึ้น ยิ่งจะทำให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนนานขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะผลักภาระมายังผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย และกลายเป็นปัจจัยลบใหม่ ที่ซ้ำเติมผู้บริโภค และเศรษฐกิจไทย จากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เปราะบางอยู่แล้ว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้