354 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำปีที่แล้ว สรุปสาระสำคัญได้ว่า GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากระดับ 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ลงมาเหลือ 4.0% กระนั้น GDP ทั้งปี กลับขยายตัว 8.1% สูงกว่าปีที่แล้วที่ขยายตัวเพียง 2.2% และยังสูงเกินเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวระดับ 6% อีกทั้งเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ GDP ของจีนขยายตัวอย่างมาก เกิดจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกในครี่งปีแรกขยายตัวสูง ถึงแม้เศรษฐกิจจีนครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงมาก จากผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 วิกฤตขาดแคลนพลังงาน และการใช้มาตรการควบคุมหนี้ของรัฐบาลจีน จนทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และฉุดให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนตกอยู่ในภาวะซบเซา
ภาพเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBoC) เดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะนโยบายการเงินผ่อนคลายสวนทางกระแสโลก โดยธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะกลาง 1 ปี (Medium-term Rate 1 year) และดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น (7Days OMO repo rate) ลงอย่างละ 10 bps สู่ 2.85% และ 2.1% ตามลำดับ ถือเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา และยังเป็นการปรับลดต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate) และอัตราเงินสดสำรองของธนาคาร (Require Reserve Ratio) ลงจาก 3.85% และ 12% เหลือ 3.8% และ 11.5% ตามลำดับ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินจีนที่มีการ update ล่าสุดรอบนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ และนักกลยุทธ์ ด้านการลงทุนต่างประเทศ หลายโบรกเกอร์ ออกมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นจีน
โดยค่ายโนมูนะ พัฒนสิน (CNS) บอกว่า แม้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจจะออกมาดีกว่าคาด แต่การที่เศรษฐกิจจีนไตรมาสล่าสุดขยายตัวในอัตราที่ชะลอชัดเจน น่าจะมีผลจากนโยบาย Zero COVID ที่ต้องการให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 และนโยบายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด แต่เชื่อว่า ทางการจีนจะค่อยๆ ออกมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ได้แก่
- PBoC จะลดดอกเบี้ย LPR ทั้ง 1 ปี และ 5 ปี ภายในเร็วๆ นี้
- PBoC จะลดดอกเบี้ย 1Y MLF และ 7D OMO repo rate ลงอีกอย่างละ 10 bps สู่ 2% และ 2.75% ตามลำดับ
- ทางการจีนจะเร่งสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินหยวน ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และลดความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของ offshore Dollar Bond
แนวโน้มที่จะเกิดนี้ ทำให้ค่ายสีแดง ระบุว่า มองตลาดหุ้นจีนเป็น Top picks ในปีนี้ จากหลายปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็น การที่เศรษฐกิจจีนเผชิญจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนเติบโตเด่นระยะยาว หรือการที่ทางการจีนเร่งออกนโยบายผ่อนคลายตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางชาติตะวันตก และการที่ราคาหุ้นยังถูก (ดังตารางข้างล่าง)
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน แนะนำซื้อกองทุนหุ้นจีน อย่าง กองทุน TMBCOF และกองทุน SCBCHA ส่วนการลงทุนในดัชนี CSI300 ประเมินแนวรับ 4664/4550 จุด แนวต้าน 4950/5140 จุด และ Stop loss หากหลุด 4465 จุด
ด้านกสิกรไทย (KS) ปรับมุมมองตลาดจีนเป็นบวก เพราะเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากนโยบายการเงิน และดัชนีช้ำทางเศรษฐกิจที่แสดงสัญญาณของการฟื้นตัว โดยประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ ที่ 5.2% ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการลงทุนหุ้นจีนสำหรับการลงทุนระยะยาว จากนโยบายผ่อนคลายที่สวนทางชาติตะวันตก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้น และมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจ เมื่อระดับราคาหุ้นปรับลดลงจากในอดีต สวนทางการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง โดยคาดหมายว่าจะเห็นดัชนี CSI300 และ MXCN เติบโตเป็นเลขสองหลัก ในปลายปีนี้ ในอัตรา 17.7% และ 14.2% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าดัชนีหลักอื่นๆ โดยเฉพาะในตลาดที่พัฒนาแล้ว
สำหรับ Theme ลงทุน แนะนำทยอยสะสมหุ้นทั้งกลุ่มที่มูลค่าหุ้นเคลื่อนไหวช้า (อินเทอร์เน็ท / E-Commerce/ โซเชียลมีเดีย) และกลุ่มที่เป็นผู้ชนะด้านนโยบาย (เซมิคอนดักเตอร์/ พลังงานหมุนเวียน/ EV) เพราะยังมีโมเมนตัมเชิงบวกอยู่ หรือหากจะให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ค่ายนี้เชียร์ K-CHINA ของกลุ่ม
ขณะที่เคจีไอ แนะนำทยอยสะสมหุ้นจีนขานรับนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกัน แต่ตีกรอบการลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาด ผ่านกองทุน P-CGREE
อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกในการลงทุนกองทุนหุ้นจีนเพิ่มเติม จากการจัดอันดับ 10 กองทุนเด่น โดย มอร์นิ่งสตาร์ ประเทศไทย ให้ทุกคนพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย