4995 จำนวนผู้เข้าชม |
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ (Capital One) ที่ปรึกษาการเงิน บมจ. เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) ผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร ครอบคลุมการให้บริการขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 16 ปี เปิดเผยว่า พร้อมเดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.5% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด โดยมีราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนขยายธุรกิจ ด้วยการซื้อรถหัวลากหางพ่วงทดแทน ปรับปรุงลานตู้ และลงทุนอุปกรณ์ในลานตู้ พร้อมกับพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจลานตู้ รวมถึงชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน ที่เกิดจากการการขยายจำนวนคลังสินค้าของบริษัทย่อย เอ็มพีเจ แวร์เฮ้าส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MPJWD) ก่อนหน้านี้ และกันไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินของบริษัทย่อย และบริษัทฯ เอง มีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มโอกาสต่อยอดธุรกิจ สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ส่วยนายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MPJ ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้วยรถหัวลากเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและบรรจุสินค้าขาออกที่ขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ นอกเขตทำเนียบท่าเรือ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลระหว่างท่าเรือ มาสู่การขนส่งทางรางรถไฟ เพื่อกระจายสินค้าไปทั่วประเทศและข้ามเขตพรมแดน จากกองรถบรรทุกหัวลาก 237 คัน และหางพ่วง 268 คัน ขณะที่การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ และจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการให้เช่าคลังสินค้า จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ MPJWD และบริษัท เอ็ม พี เจ ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ (MPJDC)
โดย MPJDC ทำธุรกิจให้บริการตู้คอนเทนเนอร์เบา (ไม่มีสินค้าบรรจุ) ของผู้ให้บริการสายเรือ เพื่อบริหารการรับหรือปล่อยตู้ให้กับผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก ตามที่สายเดินเรือระบุ รวมถึงให้บริการการซ่อมแซมและทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้มาตรฐาน และให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางทะเล (Sea Freight) ทางอากาศ (Air Freight) รวมถึงการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการวางแผนและติดตามการขนส่งระหว่างประเทศให้ถึงจุดหมายได้ตามความต้องการของลูกค้า ตลอดจนรับบริหารจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ให้กับกลุ่ม OOCL เป็นหลัก ภายใต้บริษัทร่วมทุน โอเอ็ม ดีโพ (OM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทย่อยรายนี้ กับ OOCL Logistics (Hong Kong) ผู้ให้บริการสายเดินเรือ OOCL และ COSCO โดย MPJDC ถือหุ้นในสัดส่วน 49%
ขณะที่ MPJWD ทำธุรกิจให้บริการให้เช่าคลังสินค้า ขนาดพื้นที่ 4,900 ตารางเมตร บริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และขนาดพื้นที่ 12,463 ตารางเมตร ในจังหวัดระยอง สำหรับลูกค้าที่ต้องการพักสินค้าก่อนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก หรือทำกิจกรรมพักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนำเข้าและส่งออก
สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวมเพิ่มจาก 1,014.74 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 1,300.27 ล้านบาท ในปี 2565 สาเหตุจากกลุ่มบริษัทฯ ได้รับงานโครงการขนาดใหญ่ในการจัดการการขนส่งสินค้าด้วยเรือเทกอง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือเทกองที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับการส่งแบบตู้ ผลักดันให้รายได้เติบโตก้าวกระโดดกว่าปกติ ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 910.24 ล้านบาท ในปี 2566 เมื่องานโครงการจบลงไป อีกทั้งอัตราค่าระวางเรือในการส่งออกด้วยตู้คอนเทนเนอร์ปรับลดลง ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานปรับตัวในทิศทางเดียวกัน โดยกำไรสุทธิปรับเพิ่มจาก 76.74 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 101.34 ล้านบาท ในปี 2565 ก่อนปรับลดลงมาที่ 80.45 ล้านบาท ในปี 2566
ขณะที่ผลดำเนินงาน 3 เดือนแรกปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวม 222.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.24% จากงวด 3 เดือนแรกปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจขนส่ง 51.74% ตามมาด้วยธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์ 34.35% และธุรกิจให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 13.05% อีก 0.86% ที่เหลือมาจากธุรกิจคลังสินค้า ขณะที่กำไรปรับลดลง 11.05% มาอยู่ที่ 13.12 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น