4965 จำนวนผู้เข้าชม |
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย (YUANTA) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ. เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) เปิดเผยว่า เตรียมเปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 750 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 27.27% ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมด ที่ราคาสูงสุดของกรอบราคาที่ตั้งไว้หุ้นละ 2.08-2.28 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อเป็นลำดับแรก ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม และ 2-3 กันยายนนี้ ก่อนสรุปราคาสุดท้ายที่อ้างอิงจากผลสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อ ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายนที่จะถึงนี้ ผ่านบริษัทฯ และ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นร่วม และผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 3 ราย ได้แก่ บมจ. หลักทรัพย์ ไอร่า (AIRA) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (CGSI) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) ก่อนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ หมวดธุรกิจการเกษตร (AGRI) ในวันที่ 12 กันยายน
ด้านนางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นร่วม เสริมว่า การตั้งราคา IPO ที่ 2.08-2.28 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 17.28-18.94 เท่า เมื่อคำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขาย และการขนส่งทั้งทางรถและทางเรือ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจยาวนานกว่า 40 ปี รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มซึ่งขยายตัวตามความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ช่วยอนุรักษ์โลก และการเป็นส่วนผสมสำคัญในสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน รวมถึงการที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่มาเลเซีย และอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งหากราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ต่ำกว่าราคาที่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อที่ 2.28 บาท จะดำเนินการคืนเงินส่วนต่างค่าจองซื้อหุ้นคืนให้กับนักลงทุน ก่อนที่หุ้นจะเข้าทำการซื้อขายวันแรก
ส่วนนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ประเด็นว่า PCE ถือเป็นหุ้นที่มีจุดเด่นต่างจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มรายอื่น โดยมีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่เสริมสร้างและสนับสนุนกันในแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ โรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โรงผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค โรงไฟฟ้าก๊าซชีวมวล การให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ การให้บริการขนส่งสินค้าทางรถและทางเรือ อีกทั้งมีการบริหารความเสี่ยง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความสามารถในการทำกำไรเหนือคู่แข่ง และยังมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ยิ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้บริษัทฯ มีเงินทุนขยายกิจการในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เน้นไปที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อเป็นการเพิ่มความมีเสถียรภาพในการจัดหาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้งลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายกำลังการผลิต พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) น้ำมันไบโอดีเซล (B100) น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) หรือผลพลอยได้จากการผลิต (By Product) เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) ซึ่งเป็นส่วนผสมของสินค้าในชีวิตประจำวันหลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ยา สบู่ ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม PCE ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทฯ ในอนาคต
ขณะที่นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCE เปิดเผยว่า การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค รวมถึงรับซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องมาจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงสุด เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) สูงสุด 330,000 ตันต่อปี น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงสุด 432,000 ตันต่อปี น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ ทั้ง RBDPO และ RBDPKO สูงสุด 540,000 ตันต่อปี และน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) สูงสุด 75,000 ตันต่อปี โดยเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ของไทย และกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็น บมจ. ปตท. ค้าปลีกและน้ำมัน (PTTOR) บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) เชฟรอน (Chevron) หรือเชลล์ (Shell) นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่มีปริมาณการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนตัน โดยมีรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเกินกว่า 98% แบ่งเป็นยอดขายในประเทศเกือบ 64% และส่งออกกว่า 36%
สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) มีการเติบโตที่ดี แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยรายได้รวมจากการขายและบริการ อยู่ที่ 28,178.54 ล้านบาท 32,696.15 ล้านบาท และ 24,722.79 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 847.33 ล้านบาท 214.40 ล้านบาท และ 330.50 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มดิบ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ขณะที่ช่วงครึ่งแรกปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 12,921.47 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 211.97 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน