5067 จำนวนผู้เข้าชม |
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย (YUANTA) ที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. สมาร์ททีทีซี (STTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ที่หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินระดมทุนไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
สำหรับจุดเด่นของ STTC อยู่ที่ความเชี่ยวชาญการผลิต ติดตั้ง วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มิเตอร์ไฟฟ้ายาวนานกว่า 25 ปี จนมิเตอร์ไฟฟ้าได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเพียงรายเดียว หนุนให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดซื้อมิเตอร์ไฟฟ้า และมีโอกาสเติบโตตามกระแสการพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และสังคมยุคใหม่ และช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงมากขึ้น ผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ด้านนางพรทิพย์ เทพตระการพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STTC เสริมว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ 2 ประเภท คือ ผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า (Meter Production) ให้กับผู้ซื้อหลัก ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการให้บริการอื่นๆ เช่น งานจำหน่ายพร้อมติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีความพร้อมในการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับเลือกจาก กฟภ. ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทดแทนมิเตอร์แบบจานหมุนทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2566 เป็นปีแรก และจะมีการเปิดประกวดราคาเป็นรายปีต่อเนื่องจนแล้วเสร็จภายในปี 2573 เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มิเตอร์ไฟฟ้าของบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Meter) กับและมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) โดย Electronic Meter มีคุณสมบัติในการแสดงผลค่าพลังงานแบบดิจิทัลบนหน้าจอแอลซีดี จุดเด่นคือระบบป้องกันการละเมิดการใช้ไฟฟ้า และมีความแม่นยำในการอ่านค่า ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการอ่านค่าจากระยะไกลด้วยสัญญาณบลูทูธผ่านอุปกรณ์อ่านค่า นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น ข้อมูลแรงดันไฟฟ้า ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา และข้อมูลอัตราการบริโภคไฟฟ้าสูงสุดแต่ละช่วงเวลา โดยมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสายพานการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แบบ 1 เฟส ปีละ 800,000 เครื่อง
ขณะที่ Smart Meter เป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ วิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (พ.ศ. 2558 – 2579) มีจุดเด่นคือสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ควบคู่กับการนำระบบสัญญาณสื่อสารมาพัฒนาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อวัน ข้อมูลช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แจ้งเตือนไฟฟ้าตก โดยผู้จำหน่ายไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจดหน่วยการใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนการผลิต และจัดส่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน สนับสนุนให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลมากขึ้น
สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดด จาก 75.33 ล้านบาท เป็น 328.86 ล้านบาท และ 847.64 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถพลิกจากขาดสุทธิ 19.53 ล้านบาท มาเป็นกำไร 66.80 ล้านบาท และ 57.09 ล้านบาท ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้กำไรในปีที่ผ่านมาลดลงจากปีก่อนหน้า มีสาเหตุจากอัตรากำไรขั้นต้นลดลง ผลจากการที่บริษัทฯ ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับเหมาโครงการสับเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า 8 เขต ทำให้ต้องมุ่งเน้นงานให้บริการ ซึ่งมีอัตรากำไรต่ำกว่ารายได้จากการขายมิเตอร์ไฟฟ้า กดดันให้ผลกำไรลดลงตามไป
ขณะที่ผลดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 43.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขี้น 175.4% มาอยู่ที่ 540.69 ล้านบาท หนุนจากงานโครงการสับเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า