ตลาดเชื่อผลดำเนินงานหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มฟื้นไตรมาส 2 ยก KCE เด่นสุด

5196 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตลาดเชื่อผลดำเนินงานหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มฟื้นไตรมาส 2 ยก KCE เด่นสุด


หลังจากหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายงานกำไรไตรมาสแรก กําไรปกติรวมต่ำกว่าตลาดคาด และลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สาเหตุหลักจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และการมีสต๊อกสินค้าเพียงพอ กดดันให้ยอดขายยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม การเริ่มเติมสต๊อกสินค้า และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในบางอุตสาหกรรม อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้า เซ็นเตอร์ และสมาร์ทโฟน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้ตลาดเชื่อว่า จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานได้ในไตรมาส 2 เป็นต้นไป บ่งชี้ให้เห็นว่า ผลดำเนินงานไตรมาสแรกถือเป็นจุดต่ำสุดของปี 2567 แล้ว

นอกจากนี้ การออกมาคาดหมายยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกของ IDC และ Gartner ว่า ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน 17-20% ขับเคลื่อนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สําหรับผู้บริโภค และอุตสาหกรรม AI ที่เฟื่องฟู กระตุ้นให้เกิดวงจรการเปลี่ยนทดแทนด้วยสมาร์ทโฟน AI และพีซี AI เครื่องใหม่ รวมถึงการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ค่ายอินโนเวสท์ เอ็กซ์ (INVX) กสิกรไทย (KS) ทิสโก้ (TSC) บัวหลวง (BLS) และหยวนต้า (YUANTA) เชื่อมั่นว่า หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะรายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโตดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา (QoQ) ก่อนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง รับไฮซีซั่นของธุรกิจ หนุนด้วยแผนขยายกําลังการผลิตของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้น และการได้ประโยชน์จากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ซึ่งเมื่อตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็พบว่า ตลาดคาดว่า DELTA จะรายงานกําไรปกติที่ 4.0–5.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3-30% QoQ สาเหตุจากไม่มีการตัดจําหน่ายสินค้าคงคลังเหมือนในไตรมาสแรก และได้แรงหนุนจากการเริ่มฟื้นตัวของการลงทุนในระดับ hyperscale ของธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตได้เล็กน้อย  

ส่วน KCE คาดกําไรปกติอยู่ที่ 501-543 ล้านบาท เติบโต 52-70% YoY จากฐานที่ต่ำ และเพิ่มขึ้น 11-29% QoQ ขับเคลื่อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้า HDI ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง และการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ





สำหรับ HANA คาดกําไรปกติอยู่ที่ 430-470 ล้านบาท ลดลง 38-43% YoY จากฐานที่สูง แต่เพิ่มขึ้น 22-33% QoQ ขับเคลื่อนจากธุรกิจ PCBA ที่เติบโตดีขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล นำโดยสมาร์ทโฟน และพีซี ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมและการแพทย์ยังเติบโตดี แต่ถูกกดดันจากธุรกิจ OSAT ที่ยังคงอ่อนแอ

ซี่งเมื่อประเมินภาพในครึ่งปีหลังที่จะสดใสมากขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์เหล่านี้ต่างปรับเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของ 3 หุ้นนำตลาดกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา ส่งผลให้มีการปรับประมาณการกำไรทั้งปี และราคาเหมาะสมตามมา

ตลาดคาดว่า DELTA จะรายงานกําไรปกติที่ 1.9 – 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 - 18% YoY ส่วน KCE คาดกําไรปกติอยู่ที่ 2.0 - 2.2 พันล้านบาท เติบโต 28 - 45% YoY ขณะที่ HANA คาดกําไรปกติอยู่ที่ 1.9 - 2.2 พันล้านบาท เติบโต 12 - 30% YoY ส่งผลให้เสียงส่วนใหญ่ ยก KCE เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 50 - 55 บาท แตกต่างกันไปตามค่าเฉลี่ย รองลงไปเป็น HANA ที่ให้ราคาเหมาะสมที่ 49 - 56 บาท

สำหรับ DELTA ได้รับเลือกจาก KS เพียงค่ายเดียวให้เป็น Top pick จากการได้ประโยชน์ของกระแส AI และดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เป็นวัฏจักรขาขึ้นช่วง 2-3 ปีนี้ และการฟื้นตัวของยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าที่จะทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป หลังจากหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมสูงถึง 95 บาท ขณะที่ค่ายอื่นๆ ให้ไว้ที่ 63 - 83 บาท




อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้ปรับขึ้นมาแล้ว ประกอบกับตลาดยังขาดปัจจัยหนุนจากกระแสเงินทุน (Fundflow) จึงทำให้กลยุทธ์ลงทุนระยะสั้น น่าจะเน้นเล่นรอบ (Trading) ด้วยการซื้อเมื่อราคาย่อตัว และขายเมื่อราคาดีดตัว

ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์หุ้นขนาดกลางในกลุ่ม อย่าง SVI และ CCET จากบางค่ายด้วย โดยในกรณีของ SVI มีการประเมินจากค่ายเคจีไอ (KGI) และ KS ว่า อาจเห็นกำไรไตรมาส 2 อ่อนแอลงทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากในไตรมาสแรก บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าให้ผลิตด้วย ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เข้ามาหนุนผลดำเนินงานให้เติบโตโดดเด่น แต่น่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาสนี้ ทำให้แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นน่าจะลดลง ก่อนจะเห็นการเติบโตที่โดดเด่นขึ้นในครึ่งปีหลัง ตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม และการได้ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่ง KGI ประเมินราคาเหมาะสมเพียง 6.80 บาท ส่วน KS ให้ที่ 8.50 บาท   

ขณะที่ CCET มีการวิเคราะห์จากค่ายกรุงศรี (KSS) และ KGI กับ YUANYA ว่า แม้จะมีปัจจัยหนุนจากการขยายโรงงานใหม่ 2 โรง เตรียมเปิดดำเนินการในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ผลิตสินค้า SSD ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น เพราะเป็นชิ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการใช้งานของทั้ง Data Servers และ AI Servers มาช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ โดยน่าจะส่งผลบวกชัดเจนปีหน้า ส่วนภาพการลงทุนระยะสั้น การที่ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นมาแล้วกว่า 70% ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดน้อยลง จึงควรรอจนกว่าจะเห็นผลดำเนินงานพลิกฟื้นอย่างชัดเจนก่อน ทำให้ยังไม่มีการประเมินราคาเหมาะสม แต่เบื้องต้น KGI และ กับ YUANYA คาดหมายว่า ราคาหุ้นอาจพุ่งขึ้นไปได้ถึง 4.20 - 4.30 บาท หากกำไรปกติปีนี้ทำได้สูงระดับ 2.0 – 2.2 พันล้านบาท



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้