ถึงเวลาเร่งกู้วิกฤตศรัทธาในตลาดหุ้นไทย

5233 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถึงเวลาเร่งกู้วิกฤตศรัทธาในตลาดหุ้นไทย


หลังจากหุ้นไทยปี 2566  ดัชนีติดลบ 15% อยู่อันดับเกือบท้ายสุดของโลก ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) พุ่งขึ้น 20% ผ่านมา 5 เดือนกว่าของปี 2567 ดัชนีก็ยังติดลบไปอีก 8% สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้นอีก 10%  ดังนั้น หากนับจากต้นปี 2566 จนถึงวันที่ 18 มิถุนายน ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงราว 370 จุด อยู่อันดับท้ายสุดของโลก และให้ผลตอบแทนแย่กว่า (Underperformed) ตลาดหุ้นโลกกว่า 50% พร้อมกับสร้างคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย
 
ปัจจัยหลักกดดันตลาดหุ้นไทยคือ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ที่ขยายตัวต่ำกว่า 2% ติดต่อกันสี่ไตรมาส และผลประกอบการที่แย่ของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่กำไรสุทธิลดลง 11% ในปีที่ผ่านมา และขยายตัวไม่ถึง 2% ในไตรมาสแรกของปีนี้
 
การเมือง คืออีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสถานะของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและสูญญากาศทางการเมือง
 
ความพยายามในการสร้าง Trust and Confidence ในตลาดทุน ก็ยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพพอ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ Program Trading และ Short Sell ทั้งที่ความเข้มงวดในการกำกับดูแล 2 เรื่องนี้ของไทย เทียบเท่ามาตรฐานโลก และยังมีอีกหลายมาตรการที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เข้มงวดกว่าหลายตลาดหุ้นพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ
 
ปัญหาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนในดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่ตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ปี และมูลค่าตลาดหายไปมากกว่า 4 ล้านล้านบาท จากระดับสูงสุด 
 
แล้วทิศทางตลาดหุ้นไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป 
 
ในความเห็นส่วนตัว ในระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสรีบาวน์ เพราะทั้งเศรษฐกิ จไทยและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ตัวช่วยสำคัญคือ ทิศทางดอกเบี้ยโลกที่เริ่มกลับสู่ขาลง ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนการเติบโตของกิจกรรมเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ ที่มักได้อานิสงส์เงินทุนไหลเข้าช่วงดอกเบี้ยโลกขาลง โดยที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ยุโรป แคนาดา สวีเดน เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว และเชื่อว่าอีกหลายธนาคารกลาง รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะกำลังพิจารณาลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง
 
อีกตัวช่วยสำคัญ นอกจากภาคท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี คือ ทิศทางการค้าโลกที่เริ่มกลับสู่ขาขึ้น ซึ่งองค์กรการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่า จะอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้มาก เพราะการส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยอยู่
 
นอกจากนี้ ยังจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะงบประมาณด้านการลงทุนปี 2567 ที่ยังเหลือกว่า 500,000 ล้านบาท หากสามารถเร่งเบิกจ่ายได้ทั้งหมด ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ได้มากเช่นกัน 

สำหรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย คาดว่ากำไรจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะขยายตัวได้ 13% ตลอดปีนี้ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น และฐานกำไรที่ต่ำในปี 2566 ที่ผ่านมา 

อีกปัจจัยบวก คือ Valuations ของตลาดหุ้นไทย ที่ต่ำกว่ามูลค่าทางทฤษฎี ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนในการประเมิน สะท้อนชัดเจนในระดับ Forward P/E ในปัจจุบันที่ระดับ 13.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ที่ 16 เท่า
 
แต่ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นได้แรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน
 
อย่างแรกสุด รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3% ตลอดอายุรัฐบาล โดยอาจเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจ ให้ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้น และระยะยาว และเป็นที่ยอมรับ รวมถึงอัพเดทความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักลงทุนสามารถติดตามและประเมินผลงานได้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับเร่งกู้ Trust and Confidence ให้กลับคืนมาโดยเร็ว ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ ของนักลงทุน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและรวดเร็ว  
 
นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องไม่รีรอที่จะเพิ่มกำลังซื้อในตลาดหุ้นไทย ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกองทุน LTF แบบเดิม หรือปรับรูปแบบกองทุน TESG ให้มีวงเงินสูงขึ้น และระยะเวลาลงทุนสั้นลง เพื่อสร้าง Impact ต่อตลาดหุ้นให้ได้มากและเร็วที่สุด เพราะผลพลอยได้จากตลาดหุ้นขาขึ้นคือ กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตาม

ยิ่ง Wealth Effect เพิ่มขึ้นมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น ประการสำคัญ ผลที่ได้อาจแรงกว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ และดีกว่าตรงที่รัฐบาลแทบไม่ต้องใช้เงินจากงบประมาณเลย
 
สำหรับปัจจัยการเมือง คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ แต่เชื่อว่านักลงทุนกล้ามองข้ามความเสี่ยงด้านการเมือง ถ้าปัจจัยอื่นๆ ข้างต้นเป็นไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะปัญหาระยะยาวของตลาดหุ้นไทย ยังมีอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่โจทย์เร่งด่วนสำหรับรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในเวลานี้ คือ กู้วิกฤตศรัทธาในตลาดหุ้นไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด


ไพบูลย์ นลินทรางกูร
18 มิถุนายน 2567

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้