2196 จำนวนผู้เข้าชม |
งานสัมมนาหัวข้อ SCB First Investment Outlook 2022 : Navigating Through the Recession & Inflation Risks ที่จัดโดย SCB WEALTH เพื่อระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนว่า จะมีมุมมองต่อภาพการลงทุนครึ่งปีหลัง และต้นปีหน้าอย่างไร เมื่อปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ทั้งเงินเฟ้อ ราคาโภคภัณฑ์ ดอกเบี้ยขาขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ยังน่าจะดำเนินต่อไป และควรจัดพอร์ตลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยเหล่านี้อย่างไร
คำตอบที่ได้รับจากนายธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business กองทุนแบล็คร็อค (BlackRock) สรุปได้ว่า บรรยากาศการลงทุนน่าจะมีความผันผวนต่อเนื่องไปอีกสักระยะ ทั้งจากปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ จึงแนะนำให้กระจายพอร์ตลงทุน ทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก โดยกำหนดระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์ที่ไม่สั้นเกินไป เพื่อให้สินทรัพย์เหล่านั้นมีเวลาสร้างผลตอบแทนได้ และยังเอื้อต่อการฟื้นตัวในระยะยาว เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้ตลอด
ทั้งนี้ BlackRock แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือกลยุทธ์ลงทุน 1 ปีขึ้นไป (Strategy view) และกลยุทธ์ลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน (Tactical view) โดยการลงทุนระยะสั้น ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมากขึ้น เน้นไปที่บริษัทที่มีกระแสเงินสดดี จ่ายผลตอบแทนมากกว่าปีละ 4% เพื่อลดความผันผวนของตลาดการเงิน ส่วนในระยะยาว ยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น และแบ่งเงินส่วนหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น Private Asset เพื่อเพิ่มมูลค่าพอร์ต เพราะแนวทางการลงทุนลักษณะนี้ ช่วยให้ BlackRock ประสบความสำเร็จมาแล้ว
"ปกติการจัดพอร์ตของ BlackRock จะมองไป 5 ปีข้างหน้า โดยนำตัวเลขความเสี่ยง 6 ปีย้อนหลังมาพิจารณาประกอบ เพื่อสร้างเป็นโมเดลการจัดพอร์ต ซึ่งโมเดลเดิม จะให้น้ำหนักหุ้น 60% ที่เหลือ 40% ลงตราสารหนี้ แต่โมเดลใหม่ มีการปรับลดน้ำหนักหุ้นและตราสารหนี้ลงมา แล้วเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือกเป็น 30% ส่งผลให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงลดลง" ผู้บริหาร BlackRock ให้ไอเดีย
สำหรับ Theme ลงทุนหุ้น กองทุน BlackRock จะเน้นใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ
- กลุ่ม ESG การก้าวสู่สังคมพลังงานสะอาดเช่น รถยนต์ EV ,Circular Economy การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่จำเป็นหรือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
- กลุ่ม Digital Transformation การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เช่น การพัฒนาระบบขนส่งในอนาคตที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ Electronic ต่างๆเข้าด้วยกัน
- กลุ่ม Strong Pricing Power การลงทุนในบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็น และสามารถส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้โดยที่ไม่กระทบกับยอดขาย เช่น อุตสาหกรรม Healthcare ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งจากรัฐบาลทั่วโลกมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง หนุนให้อุตสาหกรรม Healthcare มีการเติบโต และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลก เพราะปัจจุบัน 1 ใน 6 ของประชากรโลกมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มฐานผู้ใช้บริการมากขึ้น
ด้านนายอาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business กองทุนชโรเดอร์ (Schroders Investment Management Singapore) บอกว่า แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อยืนระดับสูง และน่าจะยังสูงอีกสักระยะ ทำให้ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ยังคงเปิดกว้าง ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงให้ได้มากที่สุด และจัดสมดุลให้พอร์ตสามารถตอบสนองต่อการเกิด หรือไม่เกิด Recession ชโรเดอร์จะเน้นบริหารพอร์ตแบบตั้งรับ ด้วยการลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นชั่วคราว เพราะคาดการณ์ว่า แนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนครึ่งปีหลัง อาจชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นกดดันให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนตราสารหนี้ภาครัฐ มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากราคาสูง และมีอายุยาว ทำให้เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างมาก แต่ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ประเภท Investment grade โดยเฉพาะตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่มน้ำหนักทองคำเล็กน้อย เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิด Recession
ขณะเดียวกัน แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน Private Asset เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และ Healthcare รวมถึงหุ้นเอกชนนอกตลาด ที่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดดี
สำหรับ Theme ลงทุนหุ้น Schroders ให้ความสำคัญกับการลงทุน Theme ESG เป็นหลักเช่นเดียวกัน เน้นที่กลุ่มพลังงานสะอาด (Clean Energy) กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแบบมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ช่วยลดการใช้พลังงาน หรือหลอดประหยัดพลังงาน แผงพลังงานไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดของเสีย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลต่างๆ กลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ (Low Carbon Leaders) และกลุ่มขนส่ง และระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด (Sustainnable Transport) ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และองค์ประกอบที่ใช้เป็นวัตถุในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจรสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนหุ้นไทย นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ (Innovest X) มองว่า ตลาดหุ้นไทยรับรู้ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ไปพอสมควรแล้ว ทำให้ในระยะสั้น ตลาดมีความเสี่ยงขาลง (Downsize) จำกัด แต่ก็มีโอกาสปรับขึ้น (Upside) จำกัดเช่นกัน การลงทุนจึงต้องเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive Plays) ที่ผลดำเนินงานอิงเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ อย่าง ZEN, HTC และ ADVANC รวมถึงหุ้นที่คาดว่าจะได้ Sentiment บวกจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นความเสี่ยงตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน อย่าง HMPRO, GLOBAL, CPALL, BJC และ TASCO
ในทางกลับกัน แนะหลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน ในหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply chain หลังจากการที่จีนยังดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นฐานผลิตอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์อย่าง เฉิงตู เซินเจิ้น กุ้ยหยาง รวมถึงหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นมาแรงแล้ว และล่าสุดอาจได้รับ sentiment เชิงลบจากการที่ยุโรปเผชิญปัญหาค่าครองชีพพุ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อภาคท่องเที่ยวไทยในระยะถัดไปได้
ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมีผลจากการวิเคราะห์ของ SCB CIO ที่ระบุว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่คงไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ดูจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ที่วัดจากราคาที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้าน ค่าขนส่ง หรือราคารถยนต์ เริ่มปรับตัวลงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับลงช้าๆ จนกลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปีหน้า แต่ยุโรป เงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด จากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากปัญหาขาดแคลนพลังงานยังดำเนินต่อไป จะส่งผลกระทบให้ยุโรปมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า
สำหรับเงินเฟ้อในประเทศไทย น่าจะเห็นจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ผ่านการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันรายได้ของคนไทยเมื่อหักด้วยเงินเฟ้อจะติดลบ ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม 8 ล้านครัวเรือนที่รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้รวมสูงถึง 2 ล้านล้านบาท และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้มากขึ้น จึงคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% ตลอดการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ และอาจมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ในปีหน้า หากเงินเฟ้อยังยืนประคองตัวระดับสูง