1751 จำนวนผู้เข้าชม |
การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหลายด้าน ทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบสกุลคู่ค้า การปรับตัวลดลงอย่างมากของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กดดันความมั่งคั่ง และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจดจำนอง (Mortgage rates) ที่กดดันกิจกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ยังอยู่ในภาวะ Inverted yield Curve ก็นำมาซึ่งความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และเพิ่มสูงขึ้น เมื่อตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก และไตรมาสสอง ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส
อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะแตะจุดสูงสุดภายในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก่อนจะค่อยๆ ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง งบดุลของภาคครัวเรือนที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในระดับที่ดี ภาคธุรกิจไม่ได้มีการก่อหนี้มากนัก และยังมีสภาพคล่องที่สูง ทำให้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีระดับความรุนแรงลดลง ดังนั้น SCB CIO จึงประเมินว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงยังมีไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 2 สะท้อนความสามารถในการจัดการต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ ดูได้จากผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 โดยเฉลี่ยออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ทั้งรายได้ อัตราการทำกำไร และกำไรสุทธิ ทำให้ SCB CIO คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบเข้ากับมูลค่า (Valuation) ที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น วัดจากขนาดการลดลงของ P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการลดลงของ P/E ในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยในอดีต จึงมีความเสี่ยงขาลง (Downsize risk) จำกัด และถือว่าเหมาะสมสำหรับการทยอยสะสมลงทุน เพื่อรอการฟื้นตัวหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่อนคลายท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดลงมา
ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เหตุผล 3 ประการ ประการแรก คาดว่า Bond yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีแนวโน้มพักฐานในไตรมาส 3 และเริ่มทยอยลดลงในไตรมาส 4 จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดท่าทีที่ hawkish ลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ประการที่สอง ผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 ส่วนใหญ่ดีกว่าที่ตลาดคาด ดูได้จากบริษัทจดทะเบียน 90% ที่ประกาศงบการเงินแล้ว มีกำไรสูงกว่าคาดการณ์ 4.1% ในจำนวนนี้ 75% มีกำไรสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนราว 8.8% และเมื่อพิจารณาจากฐานรายได้บริษัทจดทะเบียน พบว่า 63% ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศงบการเงินแล้ว มียอดขายสูงกว่าคาดการณ์ 2.9% โดยมียอดขายรวมสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ถึง 14.8% ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง
และประการสุดท้าย Sentiment นักลงทุนที่ Bearish บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดีขึ้น สะท้อนจาก AAII Bull-Bear Spread ที่ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับภาพรวมตลาดที่ฟื้นตัวขึ้น
สำหรับหุ้นที่ควรลงทุน SCB CIO แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive Growth เช่น Healthcare
ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร SCB CIO ยังให้มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ใน 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ด้วยว่า น่าจะเห็นดอกเบี้ยขึ้นต่อในระดับ 100 basis points (bps) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 3.25-3.50% หลังจากต้นปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวมแล้ว 225 bps