2593 จำนวนผู้เข้าชม |
ธนาคารกรุงไทย จัดสัมมนาเปิดมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนแบบเจาะลึก ในหัวข้อ CIO Forum 2025 : Reshaping Investment Paradigm โดยได้รับเกียรติจากนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting และนายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Chief Investment Office บมจ. ธนาคารกรุงไทย (KTB) ข่วยกันประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั่วโลก สรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงขึ้น
ทั้งจากสถานการณ์ในระดับโลก (Global) ระดับภูมิภาค (Regional) และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเอง (National) ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์การค้าโลกยุคทรัมป์ 2.0 พัฒนาการของเทคโนโลยี AI ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง หรือความสามารถในการแข่งขันต่ำ นำไปสู่จุดเปลี่ยน (Inflection Point) ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ โดยประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบ 2.3-3.3%
สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนในปี 2568 นี้ จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อรับมือความผันผวนจาก 6 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ นโยบายดกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น เงินเฟ้อที่แตกต่างในแต่ละภูมิภาค ความผันผวนจากการลงทุนในตราสารหนี้ เศรษฐกิจยุโรปที่ยังเปราะบาง และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
ซึ่งนายประมุข มาลาสิทธิ์ Head of Chief Investment Office บมจ. ธนาคารกรุงไทย (KTB) และนาย Matthew Quaife Global Head of Multi Asset Investment Management Fidelity International พันธมิตรด้านการลงทุนระดับโลก ร่วมกันให้มุมมองการลงทุนปีนี้ว่า ควรเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่การปรับขึ้นรอบนี้จะขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและเล็ก รวมถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่น สำหรับตลาดเกิดใหม่ มองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน อินเดีย และเวียดนาม
ขณะที่การลงทุนตราสารหนี้ ให้น้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ High Yield ของสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนยุโรป ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ เพราะเชื่อว่าราคามีโอกาสทำจุดสูงสุดรอบใหม่ได้อีก ผลจากการลงทุนของธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งตลอดทั้งปี