4441 จำนวนผู้เข้าชม |
นางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส (Advisory Plus) ที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป (BKA) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ที่ราคาพาร์ หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในไตรมาสแรกปี 2568
ทั้งนี้ BKA ทำธุรกิจ 3 ประเภท กลุ่มแรก เป็นธุรกิจรับฝากขายบ้านมือสอง (ธุรกิจบ้านฝาก) มีรายได้จากค่านายหน้าตามที่ตกลงกันเมื่อขายบ้านหลังนั้นได้ กลุ่มที่สอง เป็นธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) และกลุ่มที่สาม เป็นธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านแต่ง) ซึ่งเป็นการฝากขายบ้านมือสองพร้อมกับการปรับปรุงซ่อมแซมก่อนขายให้มีสภาพใหม่ พร้อมอยู่อาศัย ด้วยการออกแบบที่สวยงาม งานซ่อมแซมที่มีคุณภาพ พร้อมรับประกันผลงานและให้บริการหลังการขาย
สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายพอร์ตธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อวางประกันให้กับเจ้าของบ้านก่อนเข้าปรับปรุงบ้าน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านเองทั้งหมด รวมถึงนำไปพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาฯ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งผู้ต้องการซื้อและขายบ้านได้หลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ อีกส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น รวม 69 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีความเข้มแข็งทางการเงิน และมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะกลางถึงระยะยาว
ขณะที่นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKA เสริมว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะทำให้บริษัทฯ สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อขายบ้านมือสอง และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน (NPA) ตกแต่งใหม่ในประเทศ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาด ในฐานะผู้นำธุรกิจบ้านแต่ง ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า และได้รับการแสดงความคิดเห็นหรือรีวิวที่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการในสื่อสังคมออนไลน์ (social media) จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการออกแบบที่สวยงาม มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบครัน งานซ่อมแซมมีคุณภาพ และมีการรับประกันผลงานหลังการขาย และกลายเป็นธุรกิจเรือธงที่บริษัทฯ ต้องการผลักดันให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุน ยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ตลาดมีความต้องการจำนวนมาก เพราะที่อยู่อาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีพ อีกทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง น่าจะกระตุ้นให้กำลังซื้อผู้บริโภคในระยะสั้นฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ประการสำคัญ ตลาดบ้านมือสองมีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างยั่งยืน จากข้อได้เปรียบเรื่องราคา พื้นที่ใช้สอย และทำเล เมื่อเทียบกับบ้านโครงการใหม่ ซึ่งราคาขายต้องปรับขึ้นตามต้นทุนราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง เพิ่ม Gap Price ให้กว้างขึ้นมากเมื่อเทียบกับบ้านมือสอง นอกจากนี้ การที่ที่ดินเปล่าผืนใหญ่ใกล้เมืองหาได้ยากขึ้น ทำให้โครงการใหม่ๆ มีทำเลที่ตั้งที่ไกลออกไป ยิ่งทำให้บ้านมือสองมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ดีกว่า จึงเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่ามากกว่า ส่งผลให้ตลาดบ้านมือสองมีโอกาสฟื้นตัวได้โดดเด่นมากขึ้น เห็นได้จากรายงานล่าสุดของศูนย์อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ที่ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 บ้านมือสองได้รับความนิยมในสัดส่วนสูงถึง 71% ของจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 52% ของมูลค่าการโอนรวม สาเหตุจากราคาที่ดินและต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านมือสองมีราคาถูกกว่าบ้านใหม่เกินกว่าครึ่ง โดยราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองอยู่ที่ 2.16 ล้านบาท เทียบกับราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่อยู่ที่ 4.87 ล้านบาท
ส่วนผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) BKA สามารถสร้างรายได้จากการขายและบริการได้ใกล้เคียงกันตลอด โดยทำได้ 1,303.77 ล้านบาท 1,299.93 ล้านบาท และ 1,311.54 ล้านบาท ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับแผนจัดหาบ้านมือสองให้สอดคล้องกับเงินทุนที่มีอย่างจำกัด และภาวะเศรษฐกิจ โดยรายได้กว่า 80% มาจากธุรกิจบ้านแต่ง รองลงไปเป็นบ้านตัด แต่การที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร และค่าที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2565-66 ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับลดลงจากที่ทำได้ 49.77 ล้านบาท ในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 21.44 ล้านบาท และ 22.27 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2566