5720 จำนวนผู้เข้าชม |
การจัดประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Analyst Meeting) บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะผู้บริหารนำโดย ดร. ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดร. บัณฑิต รุ่งเจริญพร กรรมการผู้จัดการ และนายสุมิตร เจริญพรปิติ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงินและบัญชี เพื่อสรุปสถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 พร้อมนำเสนอแผนธุรกิจปี 2568
โดยคณะผู้บริหารยอมรับว่า พลาดเป้าหมายรายได้ในปี 2567 เนื่องจากความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ ส่งผลให้รายได้จากงานบริการโครงข่าย (Data service) ที่มีสัดส่วนการสร้างรายได้ราว 50% และงานบริการติดตั้งโครงข่าย (Installing) ที่มีสัดส่วนการสร้างรายได้ราว 43% ส่วนใหญ่จะเกิดจากการส่งมอบงานในมือ (Backlog) เป็นหลัก ทำให้ผลดำเนินงานทั้งปีอ่อนแอลงจากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี การที่เริ่มเห็นสัญญาณการเปิดประมูลงานเข้ามาบ้างในไตรมาส 3 ทำให้เชื่อมั่นว่า ผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะเติบโตดีขึ้นจากไตรมาส 3 ตามการรับรู้รายได้จาก Backlog สิ้นไตรมาส 3 ที่มี 1.96 พันล้านบาท ราว 633 ล้านบาท และรับรู้รายได้ตามความสำเร็จของงานใหม่ๆ ที่ได้รับเข้ามาช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การรับรู้รายได้จากธุรกิจ Data Center กับธุรกิจขายและให้บริการเครื่องมือแพทย์ ผ่านบริษัทย่อย โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส (GLS) ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปีหน้า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ทั้งกลุ่มที่ 3.8 พันล้านบาท เฉพาะส่วนของ ITEL ที่ 2.8 พันล้านบาท เติบโตเป็นเลข 2 หลักจากปี 2567 หนุนจากการรับรู้รายได้ 938 ล้านบาท จาก Backlog เดิม หรือคิดเป็น 33% ของเป้าหมายรายได้ทั้งปี ส่วนที่เหลือจะมาจากรายได้จากการต่อสัญญา และการได้งานโครงการภาครัฐที่จะเปิดประมูล โดยคาดหวังกับการต่อสัญญาโครงการ USO Phase 1 และโครงการ USO เฟส 3 ค่อนข้างมาก เพราะทั้ง 2 โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) กลับไปอยู่ในระดับปกติที่ประมาณ 25-28%
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการขายหุ้น 33.33% ใน ETIX ITEL Bangkok คืนให้กับพันธมิตรฝรั่งเศส โดยจะมีการบันทึกกำไรพิเศษ จากการขายสินทรัพย์เข้ามาในไตรมาสสุดท้าย ราว 110-120 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องแบกภาระขาดทุนจากบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ และมีเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจคลาวด์ เพื่อหารายได้จากการให้บริการคลาวด์ พร้อมรับการเข้ามาลงทุนสร้าง Hyperscale Data Center และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้าน AI จากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกทั้ง Google และ Microsoft แทน โดยอาศัยจุดแข็งเรื่องโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และผลักดันการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้านำบริษัทย่อย บมจ. บลู โซลูชั่น (BS) ที่ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 นี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากขายหุ้นบางส่วน ที่เกิดจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่จาก 51% เหลือ 30% ช่วยการันตีการเติบโตของผลดำเนินงานปี 2568 อีกทางหนึ่ง
สำหรับกระแสตอบรับจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เบื้องต้น ค่ายกรุงศรี (KSS) และฟินันเซีย ไซรัส (FSS) คงประมาณการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2568 ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.0 พันล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่า 17.8% จากฐานที่ต่ำในปี 2567 และโอกาสได้รับงานใหม่ๆ ที่จะทยอยเปิดประมูลมากขึ้น ทำให้คงมูลค่าเหมาะสม 2.58 บาท และ 3.40 บาท ตามเดิม แต่ปรับคำแนะนำในการลงทุนจาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" เนื่องจากการปรับฐานของราคาหุ้นที่แรงและเร็วในช่วงไม่ถึง 2 เดือนนี้ จนราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่า Book Value แบบลึกสุดใจแล้ว โดยราคาหุ้นที่ระดับ 1.50-1.65 บาท คิดเป็น P/BV เพียง 0.5-0.6 เท่า ถือได้ว่าสะท้อนความอ่อนแอของผลดำเนินงานปี 2567 ไปมากแล้ว