1695 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 362.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 307.40 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 556.77% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ตามรายได้จากการขายที่เติบโต 40.28% มาอยู่ที่ 1,797.94 ล้านบาท หนุนจากการเติบโตของธุรกิจน้ำตาล ที่มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 21,056 ตัน และราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.74% ตามราคาในตลาดโลก และการที่ธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มบริษัทฯ มีผลดำเนินงานเติบโตขึ้น ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย อีกทั้งยังมีกำไรพิเศษ จากอัตราแลกเปลี่ยน การวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ และการขายเงินลงทุนที่สูงถึง 244.62 ล้านบาท เติบโต 728.12% YoY ผลักดันให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น 731.35 ล้านบาท หรือเติบโต 55.78% YoY มาที่ 2,042.56 ล้านบาท
สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือน บริษัทฯ มีรายได้รวม 6,691.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,342.06 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.09% YoY หนุนจากการเติบโตของธุรกิจน้ำตาล ที่ได้ปัจจัยบวกทั้งปริมาณขาย และราคาขายที่เพิ่มขึ้น ตามราคาในตลาดโลก และการที่ธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มบริษัทฯ มีผลดำเนินงานเติบโตขึ้น อีกทั้งการมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการทำกำไรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 150.74% YoY หรือเพิ่มขึ้น 656.66 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,093.07 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR ได้ออกมาเปิดเผยแนวโน้มธุรกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วยว่า มีความมั่นใจว่า จะเห็นรายได้ทั้งปีให้เติบโตจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 20% ตามแผนที่วางไว้ ทั้งจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อยที่มากขึ้น และการที่ราคาน้ำตาลยืนในระดับสูงกว่าปีก่อน อีกทั้งการมีปริมาณอ้อยมากขึ้น ยังช่วยให้ธุรกิจต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง หนุนให้ความสามารถในการทำกำไรเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากเงินบาทอ่อนช่วยให้รายได้จากการส่งออกที่มีสัดส่วนสูงประมาณ 80% ขยายตัวตามไปด้วย
สำหรับแนวโน้มธุรกิจปีหน้า น่าจะมีทิศทางสดใสกว่าปีนี้ สาเหตุจากฤดูกาลหีบอ้อยปี 2567/68 ในเดือนธันวาคมนี้ น่าจะมีปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบมากขึ้น จากสภาวะอากาศที่ฝนตกมากเป็นลานีญา โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 2.5 ล้านตัน และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะยังยืนในระดับสูง จากสภาวะอากาศของบราซิลที่แห้งแล้งเป็นเอลนีโญ ช่วง 2-3 ปีนี้ กดดันให้ปริมาณอ้อยของบราซิลลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลโลกอาจเกิดการขาดดุลขึ้นได้ อีกทั้งยังจะเห็นการเติบโตของธุรกิจต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินงานของทั้งกลุ่มบริษัทฯ เติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง