TMAN เคาะราคา IPO ที่ 16.30 บาท เปิดจอง 10-11 และ 15 ต.ค. ก่อนซื้อขายวันแรก 22 ต.ค.

5550 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TMAN เคาะราคา IPO ที่ 16.30 บาท เปิดจอง 10-11 และ 15 ต.ค. ก่อนซื้อขายวันแรก 22 ต.ค.



นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS) ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ. ที. แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 102 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.5% ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 16.30 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 0.75 บาท ระหว่างวันที่ 10-11 และ 15 ตุลาคมนี้ ผ่านบริษัทฯ และผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) และ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย (YUANTA) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ หมวดธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ ในวันที่ 22 ตุลาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ การตั้งราคา IPO ที่ 16.30 บาท พิจารณาจากกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 15.6 เท่า ซึ่งเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ในฐานะผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในประเทศมากว่า 50 ปี รวมถึงโอกาสเติบโตสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร ด้วยการนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงเพิ่มเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์ยา และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ตลอดจนก่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ของกลุ่มบริษัทฯ กว่า 675 ล้านบาท ที่เหลือ 450 ล้านบาท นำไปชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์กลุ่มบริษัทฯ รวม 226 รายการ กลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ลูกค้า และกลุ่มธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ลูกค้า 16 แบรนด์ จำนวนรวม 842 รายการ

 




ส่วนเภสัชกร ประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMAN ชี้แจงว่า การที่ธุรกิจของบริษัทฯ อยู่ในเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีละ 5-7% ตามภาวะอุตสาหกรรม แต่เพื่อผลักดันการเติบโตให้สูงกว่าอุตสาหกรรม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินทุนไปใช้ขยายโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการก้าวเป็นผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ซึ่งตลาดมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% สูงกว่าอุตสาหกรรมยา ที่มีมูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.3% ขณะที่มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.0% โดยได้มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศไว้แล้ว

โดยการขยายตลาดในประเทศ ในส่วนผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ยา เตรียมขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล ที่เป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมยาอย่างเต็มตัวมากขึ้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคลินิกเวชกรรมและเสริมความงาม หลังจากประสบความสำเร็จในการวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านขายยา และโมเดิร์นเทรดต่างๆ แล้ว ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้าไว้รองรับแล้ว พร้อมกับวางแผนการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจ้างผลิต ทั้งในรูปแบบผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (OEM) และการเข้าไปมีส่วนร่วมผลิตกับลูกค้า (ODM) รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ลูกค้า ตามไปด้วย

ขณะที่โอกาสเติบโตในต่างประเทศ บริษัทฯ มีแผนให้ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้จำหน่ายสินค้าที่ตรงกับความถนัด เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงร่วมทำแบรนด์ และการตลาดกับพันธมิตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทฯ สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นจากที่ทำได้ทุกวันนี้ 22 ประเทศ อีกทั้งมีแผนออกบูธ และงานอีเวนต์ต่างๆ ในต่างประเทศ เพิ่มการรับรู้แบรนด์ และขยายโอกาสใหม่ๆ ซึ่งจะขับเคลื่อนให้สามารถยกระดับแบรนด์ขึ้นเป็น Global Brand ในที่สุด

สำหรับผลดำเนินงานของ TMAN ช่วง 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) มีการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง จาก 56.4 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 472.5 ล้านบาท และ 431.1 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ทั้งที่รายได้จะผันผวนบ้าง จากที่ทำได้ 1,263.3 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 2,024.7 ล้านบาท ในปี 2565 ก่อนลดลงเหลือ 1,980.0 ล้านบาท ในปี 2566 โดยการลดลงในปี 2566 เกิดจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางเดินหายใจลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย ส่วนการเพิ่มขึ้นในปี 2565 ได้ผลบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ผลักดันให้ยอดขายเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยสัดส่วนรายได้กว่า 59% จะมาจากผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ยา อีกเกือบ 41% มาจากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น จาก 21% ในปี 2564 เพิ่มเป็น 36.5% ในปี 2566   

และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMAN ได้ยืนยันด้วยว่า ครอบครัวฐานะโชติพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยินยอมโดยความสมัครใจที่จะไม่ขายหรือโอนหุ้น 78 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 19.5% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด เป็นระยะเวลา 180 วันนับจากวันที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเมื่อคิดรวมกับหุ้นที่ถูกห้ามขายตามกำหนด (Regulatory Lockup) 220 ล้านหุ้น หรือเท่ากับ 55% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด จะทำให้มีการ Lockup หุ้นทั้งหมดรวมเป็น 298 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 74.5% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด เพื่อยืนยันเจตนารมย์ที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโต และก้าวเดินไปพร้อมกับบริษัทฯ  

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้