RATCH มั่นใจ ผลงาน 2 ปีนี้โตแข็งแกร่ง ก่อนรุกธุรกิจเพิ่ม ROE ขึ้นมาที่ 7-8% ใน 5 ปี

5209 จำนวนผู้เข้าชม  | 

RATCH มั่นใจ ผลงาน 2 ปีนี้โตแข็งแกร่ง ก่อนรุกธุรกิจเพิ่ม ROE ขึ้นมาที่ 7-8% ใน 5 ปี



นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยการเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ให้เพิ่มจาก 4.8% เป็น 7-8% ผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลัก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยติดตาม และวิเคราะห์ประสิทธิผลของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารโครงการในมือที่มีอยู่ 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,773 เมกะวัตต์ (MW) ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย และลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทย สปป. ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ครอบคลุมทั้งโครงการพลังงานทดแทน เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต อย่างระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR) โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จากปัจจุบันที่ 27.5% เป็น 30% ในปี 2573 ก่อนเพิ่มแตะ 40% ในปี 2578

สำหรับเป้าหมายระยะสั้นในปีนี้ คาดว่า ผลดำเนินงานครึ่งปีหลังจะเติบโตจากครึ่งปีแรกที่มีรายได้รวม 22,351 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,827 ล้านบาท สาเหตุจากบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าไพตัน เต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก และยังจะมีรายได้เพิ่มจากการเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ใน 4 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ที่ออสเตรเลีย คิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นรวม 40 MW หลังจากครึ่งปีแรก สามารถรับรู้รายได้จาก 3 โครงการใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 MW โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 MW และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 MW หนุนให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวมเพิ่มเป็น 10,817.28 MW แบ่งเป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล 7,842.61 MW คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 72.5% ที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน








นอกจากนี้ อาจเห็นความสำเร็จจากการปิดดีลลงทุนใหม่ 1 โครงการ จากที่มีการเจรจาทั้งหมด 5-6 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 500 MW ส่งผลให้สามารถรับรู้รายได้เต็มปีเป็นครั้งแรกในปีหน้า ซึ่งเมื่อคิดรวมการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ใน 4 โครงการใหม่ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 677.80 MW จะทำให้ผลดำเนินงานปีหน้าเติบโตเด่นกว่าปีนี้ และสามารถทดแทนกำไรที่จะหายไปจากการทยอยหมดอายุของโรงไฟฟ้าราชบุรีตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแผนจะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 1,400 MW ในภาคตะวันตก โดยใช้ศักยภาพจากที่ดินราว 2,000 ไร่ ที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าราชบุรีปัจจุบัน และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความเชี่ยวชาญในการบริหารโรงไฟฟ้า เพื่อเพิ่มโอกาสขยายพอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้า พร้อมกับเตรียมแผนรองรับหากไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารโครงการ ด้วยการเปิดเจรจากับกลุ่มลูกค้า Data Center ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ หรือเข้าไปลงทุนพัฒนาธุรกิจพลังงานทางเลือกประเภทอื่น เป็นอีก 2 ทางเลือกด้วย  

การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า นอกจากจะคลี่คลายปัญหากำไรที่เป็นเงินสด (EBITDA) จากการหมดอายุของโรงไฟฟ้าราชบุรีปีหน้าลดลงราว 600 ล้านบาทได้แล้ว ยังทำให้นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า 8 สำนัก เชื่อมั่นว่า RATCH จะมีผลดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่นใน 2 ปีนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นมายืนเหนือ 30 บาท ได้สำเร็จ แต่หากมองจากมูลค่าพื้นฐาน นักวิเคราะห์เหล่านี้กลับประเมินราคาเหมาะสมเฉลี่ยที่ 35 บาท พร้อมแนะนำลงทุนระยะยาว เพราะอยากเห็นความชัดเจนจากพัฒนาการ ทั้งประเด็นการเพิ่มกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และความสำเร็จในการเพิ่ม ROE ให้ชัดเจนก่อน ทำให้ประเด็นการลงทุนอยู่ที่โอกาสรับเงินปันผลในระดับ 5-6%     




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้