ได้เวลาสะสม GUNKUL ราคาต่ำเกินพื้นฐาน ธุรกิจระยะสั้นยังโตได้ กระทบจากค่า Ft น้อย ก่อนโตรอบใหญ่ ปี 2569

4924 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ได้เวลาสะสม GUNKUL ราคาต่ำเกินพื้นฐาน ธุรกิจระยะสั้นยังโตได้ กระทบจากค่า Ft น้อย ก่อนโตรอบใหญ่ ปี 2569



หลังจากนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ออกมาให้ข้อมูลถึงกรณีที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะเริ่มทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ต้นปี 2570 ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาชดเชย ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จะประกอบด้วย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar) และแบบร่วมระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) และโครงการพลังงานลม (Wind) ที่ประมูลได้ทั้ง 17 โครงการ กำลังการผลิตรวม 832.4 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 และต่อเนื่องช่วงปี 2571-73 ผลักดันรายได้ให้เติบโตเป็นเท่าตัว ตั้งแต่ปี 2573 จากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท และกำไรที่เป็นเงินสด (EBITDA) กว่า 4,200 ล้านบาท รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ 




ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนขยายการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ประการสำคัญ ในช่วงรอยต่อที่ค่า Adder จะเริ่มทยอยหมดอายุ บริษัทฯ ยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่สูงกว่า 6,000  ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2567-69) เพิ่มจาก 2,800 ล้านบาท เป็น 3,300 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 17% และยังจะมีโอกาสได้งานใหม่ๆ เติม backlog จากการเปิดประมูลโครงการใหญ่ภาครัฐ มูลค่ารวมกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท และการเปิดประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ในเร็วๆ นี้




นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานรายได้จากธุรกิจผลิตและจัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ซึ่งมีทิศทางการเติบโตอย่างโดดเด่น ตามความต้องการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อลดค่าไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และกำลังอยู่ในระหว่างการต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม  

ซึ่งแผนงานต่างๆ ที่วางไว้เหล่านี้ จะผลักดันให้รายได้ของ GUNKUL ช่วง 2 ปีนี้ เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% โดยปีนี้น่าจะทำได้แตะ 9,000 ล้านบาท ก่อนก้าวเป็นธุรกิจที่มีรายได้รวมปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ก่อนจะเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ข้อมูลข้างต้น ได้รับการแปลความจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 5 สำนัก ได้แก่ กรงุศรีอยุธยา (KSS) บัวหลวง (BLS) ดาโอ (DAOL) หยวนต้า (YUANTA) และเอเซีย พลัส (ASPS) ออกมาในทำนองเดียวกันว่า แม้ Growth Story ของบริษัทฯ จะเริ่มเห็นภาพในปี 2569 แต่ภาพระยะสั้น ปีนี้และปีหน้า ธุรกิจจะยังทำกำไรได้เติบโตจากปีก่อน โดยมีการประเมินกำไรปกติปีนี้ที่ 1,500-1,650 ล้านบาท และปีหน้าที่ 1,600-1,800 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าพื้นฐานขั้นต่ำสุด ที่ 3.60 บาท ซึ่งค่าย ASPS ให้ไว้ และสูงสุดที่ค่าย BLS และ DAOL ให้ไว้ที่ 5 บาท เทียบกับค่าเฉลี่ยใน IAA Survey ที่ 3.66 บาท ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นปรับฐานจากข่าวคงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคมปีนี้ ในอัตรา 4.18 บาท ว่าอาจกดดันให้กำไรของโรงไฟฟ้าลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม SPP แต่หากมองจากต้นทุนพลังงานที่ใช้เดินเครื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซธรรมชาติ และก๊าซ LNG ที่อ่อนตัวลงเช่นกัน ทำให้ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด

การอ่อนตัวของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นช่วงนี้ ถือเป็นจังหวะสำหรับการสะสมหุ้น โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว รับการฟื้นตัวรอบใหญ่ครั้งใหม่ของธุรกิจ รวมถึงการเก็งกำไรที่จะเกิดจากข่าวเปิดประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิต 3.6 กิกะวัตต์ (GW) ในเร็วๆ นี้ เพราะ GUNKUL ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นชั้นนำในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

  

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้