KKP ปรับกลยุทธ์ธุรกิจครึ่งปีหลังเน้นคุณภาพเต็มสูบ หลังกำไรไตรมาสสองและครึ่งปีแรกทรุดเกินตลาดคาด

1783 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KKP ปรับกลยุทธ์ธุรกิจครึ่งปีหลังเน้นคุณภาพเต็มสูบ หลังกำไรไตรมาสสองและครึ่งปีแรกทรุดเกินตลาดคาด


บมจ. ธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร (KKP) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 769 ล้านบาท ลดลง 49% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 45.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ สาเหตุหลักจากรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง 4.6% QoQ และ 9.3% YoY หลักๆ มาจากการชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนในพอร์ตสินเชื่อรวมสูงระดับ 44-45% อีกทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 4.8% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 2.3% QoQ และ 18.8% YoY ตามการชะลอปล่อยสินเชื่อใหม่ และรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ที่อ่อนแอลงตามภาวะตลาด

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มจากไตรมาสแรก 190.6% มาเป็น 1.76 พันล้านบาท แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.8% เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้หนี้เสีย (NPLs) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ที่ 3.8% เป็น 4.0% ทั้งที่ผลขาดทุนจากการขายรถยึด จะลดลงจากไตรมาสแรกถึง 25.6% QoQ เหลือเพียง 1.0 พันล้านบาท  

สำหรับผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2.27 พันล้านบาท ลดลง 34.9% YoY ผลจากรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง 6.8% YoY จาก 1.43 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกปีก่อน เหลือ 1.33 หมื่นล้านบาท จาก 2 เหตุผล คือ การชะลอปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ กดดันให้ครึ่งปีแรก สินเชื่อหดตัว 1.7% YoY ทั้งที่ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อรายย่อยด้านอื่นๆ และสินเชื่อธุรกิจได้เพิ่มขึ้นก็ตาม กับการที่ NIM ลดลงจากระดับ 5.1% ในสิ้นปีก่อน มาเหลือ 4.9%  

อย่างไรก็ดี ผลขาดทุนด้านเดรดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น กลับปรับลดลง 20.1% YoY ขานรับผลสำเร็จจากมาตรการบริหารคุณภาพสินเชื่อที่ธนาคารดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่เริ่มลดลง ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และรายการขาดทุนจากการขายรถยึด (Credit Cost) ปรับลดลงจาก 2.70% มาอยู่ที่ 2.48% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ เช่นเดียวกับการรักษาสมดุลของอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ที่ 16.71% ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 12.70% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นมาตรฐาน 

ภาพธุรกิจครึ่งปีแรก ทำให้ผู้บริหาร KKP ประกาศปรับลดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจใหม่ ด้วยการเน้นกลยุทธ์เชิงรับเต็มตัว เพื่อควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ทำให้ตั้งเป้าสินเชื่อติดลบ 3% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ในระดับ 4.8% ส่วน NPL ควบคุมให้อยู่ในกรอบ 3.9-4.1% โดยมี Credit Cost ในกรอบ 2.5-2.7% เพื่อรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ให้ได้ที่ 8-9% เทียบกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 10-11%





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้