MFC แนะจัดพอร์ตลงทุนไตรมาส 3 กระจายทั้งในตราสารหนี้และหุ้น

4458 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MFC แนะจัดพอร์ตลงทุนไตรมาส 3 กระจายทั้งในตราสารหนี้และหุ้น


การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางดอกเบี้ยขาลง ทำให้ บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC Asset) เปิดกลยุทธ์บริหารพอร์ตลงทุนไตรมาส 3 แนะนำให้กระจายพอร์ตลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้น นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และเพิ่มมูลค่าพอร์ตด้วยสินทรัพย์ทางเลือก

โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธีม AI เช่น NVIDIA หรือ Microsoft ซึ่งประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 2.1% อย่างไรก็ตาม ภาพระยะสั้น มีโอกาสเห็นการย่อตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในไตรมาสนี้ ราว 3-5% เนื่องจากปัจจุบันดัชนี S&P500 ที่บริเวณ 5,500 จุด เป็นราคาที่มี Valuation ค่อนข้างตึงตัว 

ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ในไตรมาส 3 อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น คาดเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways up เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มดี รวมถึงปัจจัยด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินเดีย ที่นักลงทุนยังเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของอินเดีย หลังตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2024 (เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมปีนี้) โต 7.8% ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน Nifty 50 พบว่ารายได้และกำไรเติบโต 7.0% และ 12.59% หนุนให้ตลาดน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways up 

สำหรับตลาดหุ้นจีน เชื่อว่า ดัชนีจะเคลื่อนไหว Sideways ขานรับการออกนโยบายสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการด้านตลาดทุน ทำให้ตลาดคาดเศรษฐกิจจีนทั้งปีขยายตัวเพิ่มขึ้น โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ที่ 4.9% และยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก Valuation ตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเพียง Neutral

คล้ายกับตลาดหุ้นไทย ที่ประเมินว่า จะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways ตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก โดยภาพระยะสั้น ยังมีประเด็นการเมืองในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล หรือการพิจารณาคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน กดดันบรรยากาศการลงทุนอยู่ แต่ภาพระยะกลางถึงยาว น่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และราคาหุ้นไทยที่เริ่มน่าสนใจ โดยมี Forward P/E ที่ระดับ 13.16 เท่า ช่วยขับเคลื่อนการปรับขึ้น 




ส่วนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ ให้น้ำหนักการลงทุน Overweight ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะคาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลงในระยะยาว โดยพันธบัตรอายุ 10 ปี คาดที่ 4.0 % จากแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลง อีกทั้งตลาดแรงงานเริ่มชะลอ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมปรับลดดอกเบี้ย แนะนำให้ทยอยสะสมตราสารหนี้ภาครัฐ คุณภาพสูง มี Carry Yield สูง 5% ในกลุ่ม Agency MBS และหุ้นกู้เอกชนคุณภาพสูง ขณะที่ Credit Spread ยังแคบลงต่อได้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอ ส่งผลบวกต่อราคาตราสาร

สำหรับสินทรัพย์ทางเลือก อย่างทองคำ หลังจากราคาทำจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) ในไตรมาส 2 ที่ออนซ์ละ 2,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ก่อนปรับตัวลงมาที่ 2,325 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นเดือนมิถุนายน จากแรงกดดันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมองราคาเป้าหมาย อีก 12 เดือนข้างหน้า ที่ออนซ์ละ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนจากการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อกระจายความเสี่ยงจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สภาทองคำโดลกรายงานว่าธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำสุทธิเกินกว่าปีละ 1,000 ตัน จึงให้น้ำหนักการลงทุน Overweight ช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) คาดเคลื่อนไหวในลักษณะ sideway up หนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งตามสถิติดัชนี Global REITs มีแนวโน้มปรับขึ้นประมาณ 10-15% ในช่วง 26 สัปดาห์ก่อนและหลังการลดดอกเบี้ย เหมาะจะใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มมูลค่าพอร์ตลงทุน จึงแนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนใน Global REITS

แตกต่างจาก Singapore REITs และ THAI REITs ซึ่งแนะนำแค่ทยอยซื้อสะสม เพราะภาพระยะสั้นยังมี sentiment เชิงลบ โดย Singapore REITS ราคาซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.84 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี เทียบกับอัตราผลตอบแทน (Yield) เฉลี่ยที่ 6% หรือ THAI REITs ที่ราคาซื้อขาย P/BV เพียง 0.70 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ทั้งที่คาดการณ์ Yield เฉลี่ยสูงถึง 10%  





MFC Asset ยังแนะแนวทางการจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ (Asset Allocation) โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรือคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 5-7% แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารทุน 45-50% และกองทุนทางเลือก 5-10% แต่หากรับความเสี่ยงได้สูง หรือคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 8-10% แนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 15-20% กองทุนตราสารทุน 70-75% และกองทุนทางเลือก 5-10%






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้