เดอะวิสดอม กสิกรไทย แนะกลยุทธ์ลงทุนครึ่งหลังปี 2567 กระจายลงทุนใน 6 ตลาดหุ้นเด่น นำโดยสหรัฐฯ

4605 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เดอะวิสดอม กสิกรไทย แนะกลยุทธ์ลงทุนครึ่งหลังปี 2567 กระจายลงทุนใน 6 ตลาดหุ้นเด่น นำโดยสหรัฐฯ


เดอะวิสดอม กสิกรไทย จัดสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ครั้งที่ 3 เจาะลึกการเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินการคลังในครึ่งหลังปี 2567 โดยแนะนำให้เพิ่มโอกาสลงทุนใน 6 ตลาดหุ้นต่างประเทศที่ต้องจับตา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

โดยนางสาวมทินา วัชรวราทร Head of Investment Strategy บลจ. กสิกรไทย (K-Asset) อธิบายว่า การที่เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังส่งสัญญาณฟื้นตัวเด่นชัดมากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น ถือเป็นจังหวะในการกระจายพอร์ตลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นสูง และยังมีปัจจัยหนุน 2 ด้าน คือ การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ขับเคลื่อนให้หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 ตัว หรือหุ้น 7 นางฟ้า (Magnificent Seven) และจำนวนประชากรภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีแรงงานใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการบริโภค ทำให้ภาคบริการเติบโต หนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในสัดส่วน 50% อย่างไรก็ตามการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นมาสูงระดับหนึ่งแล้ว จึงแนะให้ทยอยลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับฐาน

สำหรับตลาดหุ้นอื่นๆ แนะนำการจัดพอร์ตแบบผสมผสาน Core & Satellite เพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างการลงทุนผ่านกองทุน K-WealthPLUS Series ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภททั่วโลก ซึ่งเป็นโซลูชันด้านการลงทุนที่บริษัทฯ พัฒนาร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management พันธมิตรระดับโลก โดยแนะนำให้ถือเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) ในสัดส่วน 80% พอร์ตรวม และเลือกจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยง

โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงระดับต่ำถึงปานกลาง สามารถเลือกแนวทาง K-WPBALANCED ที่มีสัดส่วนการลงทุนหุ้น 30% และตราสารหนี้ 70% ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงระดับปานกลาง สามารถเลือกแนวทาง K-WPSPEEDUP ที่มีสัดส่วนการลงทุนหุ้น 65% และตราสารหนี้ 35% และหากรับความเสี่ยงระดับปานกลางถึงสูง สามารถเลือกแนวทาง K- WPULTIMATE ที่มีสัดส่วนการลงทุนหุ้น 85% และตราสารหนี้ 15%

สำหรับพอร์ตเสริม (Satellite portfolio) อีก 20% ที่เหลือ สามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดที่สนใจ หรือต้องการจับจังหวะเพื่อเก็งกำไร เช่น การจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน K-GLOBE มีนโยบายกระจายลงทุนในหุ้นทั่วโลก กองทุน K-INDIA เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดี เติบโตสูง ครบทั้งหุ้นขนาดเล็กและใหญ่ กองทุน K-VIETNAM ลงทุนในหุ้นชั้นนำ มีศักยภาพการเติบโตสูงในหลายอุตสาหกรรม หรือกองทุน K-FIXPLUSED เน้นตราสารหนี้ไทยคุณภาพดี เพื่อลดความผันผวนให้พอร์ต

 

 

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตลาดหุ้นอื่นๆ มีแนวโน้มการฟื้นตัวแตกต่างกันไป อย่างตลาดหุ้นยุโรป ถึงแม้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัว เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น ภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างจีน อีกทั้งมูลค่าหุ้นยังไม่แพง และกำไรบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ แต่ตลาดยังมีความกังวลผลเลือกตั้งในสภายุโรป ที่พรรคฝ่ายขวาจัดได้จำนวนเสียงที่นั่งเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องจับตาแนวนโยบายการคลังว่าจะมีนโยบายเพิ่มหนี้สาธารณะอีกมากน้อยเพียงไร จึงแนะให้รอดูผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสก่อนเก็บสะสมหุ้นยุโรปเข้าพอร์ต

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น อยู่ในช่วง Reform & Recovery เมื่ออัตราเงินเฟ้อและค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเติบโต และยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดที่มีในระดับสูงไปลงทุนเพิ่มได้ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน และเพิ่มมูลค่าให้ตลาดหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหันกลับมาสนใจตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น หนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) ได้ในรอบกว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม อาจต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินเยนประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย เพราะหากเงินเยนอ่อนค่าเกินไป จะทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในการลงทุน และทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้

ขณะที่ตลาดหุ้นจีน อยู่ในช่วงปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ หลังจากสามารถแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ กับภาคการผลิตถูกกีดกันทางการค้าได้ลุล่วง ด้วยการหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมใหม่ อย่างเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เทคโนโลยี AI และเซมิคอนดัคเตอร์ เสริมด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเกือบทุกมิติ ทำให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะเติบโตได้มากน้อยเพียงไร

ด้านตลาดหุ้นอินเดีย ยังคงมีศักยภาพการเติบโตสูง หนุนจากประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก มีการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การนำอินเดียเข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่ยังคงคงดำเนินต่อไป ช่วยขับเคลื่อนตลาดให้ปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง (Rising Rapidly) 

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ยังคงมีภาพ Rising Star ในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง จากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า และนโยบายสำคัญของจีนที่กำลังดำเนินการอยู่คือ China Plus One โดยจีนยังเป็นตลาดหลักของภาคการผลิต แต่มองหาตลาดใหม่เพื่อกระจาย Supply Chain ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการส่งออกของเวียดนามเติบโตกว่า 15% หลักๆ มาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนาม


 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้