4955 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 525.11 ล้านบาท ลดลง 32.30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และลดลง 25.35% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ทั้งจากปัจจัยฤดูกาล กำลังซื้อที่ชะลอตัวลง อีกทั้งราคาเหล็กยังต่ำกว่าปีก่อน ฉุดรายได้รวมลดลง 10.2% YoY และ 13.7% QoQ มาอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท แม้จะมียอดขายจากการเปิดสาขาใหม่ 4 สาขาเข้ามาหนุน แต่ไม่สามารถชดเชยผลจากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ลดลงเป็น -12.3% จาก -9.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และค่าใช้จ่ายในการขายต่อยอดขาย (SG&A/sales) ที่เร่งตัวขึ้นเป็น 19.5% จาก 16.2% YoY และ 16.7% QoQ อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 25.9% เพิ่มขึ้น0.5% YoY และเพิ่มขึ้น 0.1% QoQ
ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,118.61ล้านบาท ลดลง 28.76% YoY จากการชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการปรับลดราคาขายสินค้ากลุ่มเหล็กตามราคาตลาดโลก ฉุดให้รายได้ลดลง 8.31% YoY มาที่ 24,777.14 ล้านบาท
โอกาสนี้ นายวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GLOBAL ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจโค้งสุดท้ายปีนี้ด้วยว่า น่าจะเห็นยอดขายปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 จาก SSSG ที่คาดติดลบน้อยลง เห็นผลแล้ว เมื่อ SSSG เดือนตุลาคมที่ผ่านมาติดลบต่ำกว่า 10% สาเหตุจากกำลังซื้อเกษตรกรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางราคาข้าวและอ้อย ที่ปรับตัวสูงขึ้น หนุนด้วยการได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลงในการขายสินค้าชุดใหม่ ช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น รวมถึงการเปิดสาขาใหม่ 3 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 2 แห่ง และกัมพูชา 1 แห่ง
สำหรับปีหน้า คาด SSSG พลิกกลับมาเป็นบวก 3-4% ตามภาวะเศรษฐกิจ จากการขยายสาขาในประเทศเพิ่ม 8 แห่ง หนุนให้อัตรากำไรคาดจะฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งการเพิ่มสัดส่วนสินค้าเฮ้าส์แบรนด์จาก 23-24% ในปีนี้ เป็น 25% ขณะที่ราคาเหล็ก ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของยอดขายรวม เชื่อว่า มี downside ค่อนข้างจำกัดแล้ว ส่งผลให้ SG&A/sales ลดลงมาอยู่ใกล้ 16.0% จากที่อยู่ 16.6% ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นในระดับ 25.5-26.0%
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตั้งแต่ต้นปี บริษัทฯ เน้นควบคุมสต๊อก และปรับปรุงสาขา เพื่อสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้เป็นบวกสูงที่สุด ทั้งเพื่อรองรับแผนขยายสาขา เพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) และบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อย่างปีนี้ซึ่งดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น บริษัทฯ มีการชำระคืนหนี้สถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ D/E สิ้นไตรมาส 3 ลดลงจาก 0.77 เท่า ในสิ้นปีก่อน ลงมาเหลือ 0.64 เท่า
ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ถูกตีความจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักว่า กำไรงวดไตรมาส 3 ของ GLOBAL น่าจะแตะจุดต่ำสุด (Bottomed out) ได้แล้ว โดยคาดผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ทั้ง QoQ และ YoY ก่อนเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวเต็มปีอีกครั้งในปีหน้า และเป็นหุ้นตัวเลือกในกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากเครือข่ายที่แข็งแกร่งครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน ทำให้มีโอกาสเติบโตในระยะยาวดีกว่ากลุ่ม
โดยกรุงศรี พัฒนสิน (KCS) คาดกำไรไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มฟื้นตัว YoY และ QoQ หนุนจากทิศทาง SSSG ที่ค่อยๆ ดีขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มอัตราทำกำไรที่จะได้แรงหนุนจาก GPM ปรับขึ้น YoY รับอานิสงส์การขายสินค้าชุดใหม่ที่มีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำลง และ SG&A/Sales ที่จะลดลงทั้ง YoY จากไม่มีบันทึกด้อยค่าสต็อคสูงเหมือนไตรมาส 4 ปีก่อน และลดลง QoQ จากการประหยัดต่อขนาด ก่อนที่ปีหน้าจะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวเต็มปี จากที่อ่อนตัว 23% ปีนี้ เป็นเติบโต 14% ทำให้คงประมาณการกำไรปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2568 ที่ 2,668 ล้านบาท 3,043 ล้านบาท และ 3,330 ล้านบาท ตามลำดับ พร้อมคงแนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 18.20 บาท
ด้านซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเทศไทย (CGS-CIMBS) และบัวหลวง (BLS) ชี้ว่า GLOBAL เป็นตัวเลือกที่ดีในกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง จากผลดำเนินงานที่คาดฟื้นตัวเด่นปีหน้า หนุนจากความต้องการวัสดุก่อสร้างที่ฟื้นตัว หลังมีการประมูลโครงการรัฐเพิ่มขึ้น การได้มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศสนับสนุน และการที่ราคาเหล็กปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นยังน่าสนใจที่ P/E 22.6 เท่า เทียบเท่า -1.8SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปี จึงเป็นจังหวะดีที่จะเข้าสะสมหุ้น GLOBAL เพื่อรอการฟื้นตัวของกำไรที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4 และปีหน้า พร้อมแนะนำ "ซื้อ" โดย BLS ให้ราคาเป้าหมายที่ 19.50 บาท ขณะที่ CGS-CIMBS ให้ 19.90 บาท
อย่างไรก็ตาม หุ้นอาจมี downside risk หากผลกระทบจากภาวะเอลนีโญยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคต่างจังหวัดลดลง และกระทบ SSSG
ส่วนหยวนต้า (YUANTA) และฟินันเซีย ไซรัส (FSS) คิดตรงกันว่า GLOBAL น่าจะมีกำไรโตเด่นในไตรมาสแรกปีหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจ แต่แนะนำเพียง "TRADING" เพื่อให้สอดคล้องกับ SSSG ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปรับลด SSSG ปีนี้ลงจาก -6% เป็น -9% และเพิ่ม SG&A/sales ขึ้นเป็น 16.8-17.0% จากเดิม 15.7% ขณะที่ปีหน้า ปรับเพิ่ม SSSG ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2-3% และเพิ่ม SG&A/sales เป็น 16.6-16.8% จากเดิม 15.6%
ส่งผลให้ YUANTA ประเมินกำไรปีนี้และปีหน้าที่ 2,666 ล้านบาท และ 3,034 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 17.50 บาท Implied P/E ที่ 28.7 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ -1.25 SD ใกล้เคียงกับ FSS ที่คาดกำไรปีนี้และปีหน้าที่ 2,753 ล้านบาท และ 3,021 ล้านบาท ตามลำดับ คำนวณมูลค่าเหมาะสมได้ที่ 18.00 บาท อิง Forward P/E ที่ 27.2 เท่า