3182 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานกําไรสุทธิงวดไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (QoQ) 397.5% มาอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท ทําระดับสูงสุดใหม่รายไตรมาสเป็นประวัติการณ์ สาเหตุจากกําไรจากการดําเนินงานปกติปรับตัวขึ้น 65.7% QoQ มาอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท ตามรายได้จากการขายไฟฟ้าโดยรวมที่เพิ่มขึ้น 15.2% QoQ มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งจากการรับรู้รายได้ในโครงการ GSRC phase 4 กําลังการผลิต 463.8 MW ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมเข้ามาเป็นไตรมาสแรก และรับรู้ค่า Ft ช่วงเดือนกันยายน ถึงธันวาคม ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เต็มไตรมาส และโรงไฟฟ้าพลังงานลม BRK2 ในเยอรมัน กําลังการผลิต 232.5 MW มีปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่ช่วง High season อีกทั้งต้นทุนก๊าซฯ เฉลี่ยในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ปรับลดลง 12.3% QoQ มาอยู่ที่ราว 500 บาท / ล้านบีทียู หนุนให้กําไรขั้นต้น (GPM) เพิ่มขึ้น 22.1% มาอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท โดย GPM เพิ่มจาก 19.9% ในไตรมาส 3 ขึ้นมาเป็น 21.3%
ขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งกําไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27.3% QoQ มาอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท หนุนโดยกลุ่มโรงไฟฟ้า GJP ที่ปรับตัวดีขึ้น จากปริมาณขายไฟฟ้าที่มากขึ้น ประกอบกับอานิสงค์จากต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลง และส่วนแบ่งกําไรจาก GULF GUNKUL (GGC) ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นตามการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลลมในไทย รวมถึงยังมีการรับรู้กําไรจากการขายโรงไฟฟ้า BRK2 ในสัดส่วน 50% ที่ 381 ล้านบาท และกําไรจากการซื้อหุ้น บมจ. ไทยคม ( THCOM) อีก 189 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกำไรรายการพิเศษ ทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยน และตราสารอนุพันธ์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่บันทึกกลับเป็นกําไร 1.8 พันล้านบาท เทียบกับงวดไตรมาส 3 ที่บันทึกเป็นผลขาดทุน 1.1 พันล้านบาท
สำหรับภาพรวมผลดำเนินงานทั้งปี บริษัทฯ สามารถสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) ทั้งด้านรายได้และกำไร โดยมีรายได้รวม 1.01 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% YoY ขณะที่กำไรปกติอยู่ที่ 1.20 ล้านบาท และกำไรสุทธิ คิดรวมกำไรจากรายการพิเศษที่ 1.14 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% YoY และ 37% YoY ตามลำดับ
โอกาสนี้ บริษัทฯ พร้อมจ่ายปันผลสำหรับงวดบัญชีทั้งปี ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท กำหนดวันขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 1 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก่อนจ่ายเงินในวันที่ 5 เมษายน
ขณะเดียวกัน นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานปีนี้เพิ่มเติมว่า คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้ หลักๆ มาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP โครงการที่ 2 ภายใต้ IPD ได้แก่ โครงการ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 (รวม 1,325 MW) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่อเมริกา (1,200 MW) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้ภายในไตรมาสแรกนี้
ที่สำคัญ GULF จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบัน 9% เป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ ทั้งในอังกฤษ ยุโรป และอเมริกา
สำหรับธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ ที่ร่วมลงทุนกับ Binance นั้น ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กับทาง กลต. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาสแรกนี้เช่นกัน ส่วนธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอม (Singtel) และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีนี้ ก่อนเปิดดำเนินการในปี 2568
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาธุรกิจ Virtual Banking เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย ทำให้ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้น 41.13% ใน บมจ. ไทยคม (THCOM) จาก บมจ. อินทัช คอร์ปอเรชั่น (INTUCH) เพราะเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจดาวเทียม (Satellite) ไปในธุรกิจ New Space Economy เช่น การนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรือการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน รวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite)
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เสียงส่วนใหญ่มั่นใจทิศทางกําไรระยะยาวยังมีศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง ทั้งจากธุรกิจหลักโรงไฟฟ้า และการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัล
ในเบื้องต้น ดาโอ (DAOL) คงประมาณการกำไรสุทธิที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 33% คิดเป็นราคาเป้าหมายที่ 60 บาท (ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของตลาด) พร้อมแนะนำ ทยอยสะสม หลังจากราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เคลื่อนไหวใกล้เคียงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ขานรับการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น THCOM การทำธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ, ดาต้าเซ็นเตอร์, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หรือโรงไฟฟ้า Jackson) แต่เชื่อว่าราคาหุ้นจะกลับมา outperform ตลาดได้อีกครั้ง จากแนวโน้มกำไรปีนี้ที่เติบโตได้ดี รวมถึงการขยายโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งจากการประมูลพลังงานทดแทนในไทย 5.2 GW และเวียดนาม
ส่วนบัวหลวง (BLS) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติเพิ่มขึ้น 36% เป็น 1.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% แต่คงราคาเป้าหมายที่ 68 บาท ตามเดิม เพราะมองภาพ GULF กำลังเปลี่ยนเป็นหนึ่งในผู้เล่นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีพอร์ตธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทั้งภาคพื้นดิน (เช่น การผลิตไฟฟ้า) ทางทะเล (เช่น การลงทุนท่าเรือ และสถานี LNG) ตลอดจนถึงอวกาศ (ดาวเทียม) หนุนให้แนวโน้มกำไรเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยทบต้นเป็นตัวเลขสองหลักไปอีก 10 ปีข้างหน้า และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารองรับ แต่การที่บริษัทฯ ยังคงขยายธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจัยพื้นฐานมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง จึงทำให้ประเมินว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทฯ อาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมแนะนำซื้อเก็บไว้ในพอร์ต
ขณะที่โนมูระ พัฒนสิน (CNS) คาดกำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 46% YoY เป็น 1.72 หมื่นล้านบาท เพราะได้โรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาหนุน อีกทั้งอัตรากำไรโรงไฟฟ้า SPP ที่คาดจะสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่า FT และต้นทุนก๊าซฯ ลดลง อย่างไรก็ตาม การที่ราคาก๊าซฯ ปรับลงเร็ว อีกทั้งผลกระทบฤดูหนาวในอเมริกา อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Jackson ทำให้ยังคงรอข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนทบทวนปรับประมาณการราคาอีกครั้ง จึงคงราคาเป้าหมายที่ 55 บาท ไว้ก่อน
ด้านเอเซีย พลัส (ASPS) คงประมาณการกำไรปกติที่ 1.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็นราคาเป้าหมายที่ 65 บาท อีกทั้งยังมี upside ส่วนเพิ่มจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 2-3 โครงการ
สําหรับภาพระยะสั้น คาดกำไรไตรมาสแรกปีนี้จะทรงตัวระดับสูง QoQ หนุนจากการรับรู้รายได้โครงการ Jackson ในอเมริกา 588 MW ที่น่าจะดําเนินการซื้อกิจการแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก รวมถึงอัตรากําไรขั้นต้นของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่คาดจะฟื้นตัวจากทิศทางราคาก๊าซฯ ที่ปรับลดลง และการรับรู้การปรับขึ้นค่า Ft ช่วงเดือนมกราคม ถึงเมษายน ขึ้นอีกหน่วยละ 61.5 สตางค์ อย่างไรก็ตาม จะมีปัจจัยกดดันจากโครงการ BRK2 ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 25% และส่วนแบ่งกําไรจาก GGC ที่คาดจะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง หลังผ่านพ้นช่วง High season ของลมในไตรมาสุดท้ายปีที่ผ่านมาแล้ว