2625 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. แม็คกรุ๊ป (MC) ธุรกิจค้าปลีกสินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ "แม็คยีนส์" เปิดเผยผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 รอบบัญชีปี 2566 (เริ่ม 1 ตุลาคม ถึง 31ธันวาคมปีที่ผ่านมา) ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้ารวม 1,117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.2% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 112% QoQ และ 6.7% YoY เป็น 246 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) อยู่ที่ 14.85% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 65.2% และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22%
ขณะที่งวด 6 เดือนรอบบัญชีปี 2566 (เริ่ม 1 กรกฎาคม ถึง 31ธันวาคมปีที่ผ่านมา) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้า 1,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.9% YoY และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 42.3% YoY เป็น 362 ล้านบาท
โอกาสนี้ นายเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MC ชี้แจงสาเหตุที่ทำให้ผลดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 6 ปี ว่า ได้ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังเปิดเมือง หนุนด้วยการฟื้นตัวของท่องเที่ยว ผลักดันให้กำลังซื้อฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน เห็นผลชัดเจนในช่องทางออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกสาขาต่างๆ ของบริษัทฯ (Free-standing Shop) หรือร้านค้าในห้างสรรพสินค้า (Department Store) คิดเป็นสัดส่วนรายได้รวมกัน 89% ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์ในการขยายสาขา Mc Outlet เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะเปิดได้ครบ 100 สาขา สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมว่าจะเปิดให้ได้ 80 สาขา
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นคุมเข้มต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย รวมถึงกลยุทธ์ Product Mix การส่งเสริมการขาย และการบริหารช่องทางการขายสินค้าที่ทำมาต่อเนื่อง จึงทำให้ผลดำเนินงานรวมเติบโตดีกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด หนุนให้ผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 15.8% จาก 13.4% และมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น 5.67% มาอยู่ที่ 2,110 ล้านบาท และพร้อมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสำหรับผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของรอบบัญชีปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.45 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเกือบ 100% ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ มองมุมบวกต่อบริษัทฯ จากภาพธุรกิจที่สดใสหลังกลยุทธ์ใหม่เห็นผล และขยายสาขาเชิงรุกมาก โดยเฉพาะ MC outlet ที่ผลตอบรับดี และบริษัทฯ พร้อมขยายสาขามากสุดในรอบเกือบ 10 ปี เพิ่ม 80 สาขา ผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาจต้องหวังผลระยะยาว จากปันผลที่จ่ายสม่ำเสมอปีหนึ่งๆ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 5% มากกว่า upside จากราคา
ไพ (Pi) เชื่อว่า MC outlet คือปัจจัยขับเคลื่อนกำไรอย่างมีนัยสําคัญ เพราะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ทำให้อัตรากําไรสูงเมื่อเทียบกับสาขารูปแบบอื่นที่มีอยู่ โดยคาดการณ์ว่า จะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้รอบบัญชีปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรอบบัญชีปีก่อนหน้า 21%
ที่สำคัญ การที่ MC มีกระแสเงินสดในมือสูงถึง 2 พันล้านบาท จึงทำให้มีความพร้อมในการทําดีล M&A เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ประกอบกับบริษัทฯ มีการจ่ายปันผลมากกว่า 5% อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จึงแนะนํา "ซื้อ" ที่มูลค่าพื้นฐาน 13.80 บาท อิง P/E กลางปีหน้าที่ 17.5 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ย 5 ปี หรือมีส่วนลด 13% จากค่าเฉลี่ยกลุ่มเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลก
ส่วนหยวนต้า (YUANTA) ปรับประมาณการกำไรปกติรอบบัญชีปีนี้และปีหน้า เพิ่มขึ้น 28% และ 27% อยู่ที่ 686 ล้านบาท และ 736 ล้านบาท ตามลำดับ จากแรงหนุนของกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการท่องเที่ยวที่สดใส และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น หลังความกังวลการแพร่ระบาดโควิดคลี่คลาย รวมถึงมาตรการรัฐทั้งจากช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ขณะเดียวกัน การที่บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นได้ดี 5 ไตรมาสติด มาอยู่ที่ระดับ 64-65% คิดเป็นราคาเหมาะสมใหม่ที่ 13.70 บาท จากเดิมที่ 11.50 บาท
เช่นเดียวกับโนมูระ พัฒนสิน (CNS) ที่ปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้า เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 7% เป็น 619 ล้านบาท และ 709 ล้านบาท ตามลำดับ เพราะปรับยอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งจากกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง การขยายสาขาเชิงรุกมากขึ้น และความสำเร็จที่เกิดจากการปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ หนุนให้อัตรากำไรยืนสูงได้ในระดับ 65% จึงปรับราคาเป้าหมายกลางปีหน้าเป็น 15.20 บาท จากเดิมที่ 14.10 บาท อิง PER 17 เท่า (เทียบเท่าค่าเฉลี่ย Forward P/E 10 ปี +1 SD) พร้อมแนะนำ "ซื้อ" เพื่อลงทุนระยะยาว จาก Dividend yield ที่สูงปีละ 6-7% และมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเป็น net cash