2414 จำนวนผู้เข้าชม |
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยแผนธุรกิจช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2566-70) ว่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่นยืน โดยมีเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติที่ 27,000 ล้านบาท และบริหารอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ให้สูงไม่น้อยกว่า 50% บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยมุ่งเน้นขยายธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสำรวจหาตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ ควบคู่ไปกับมุ่งหาโอกาสใหม่ๆ กับธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) พลังงานไฮโดรเจน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือกับ บมจ. ปตท. (PTT) และ Sertis พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ชื่อ RENEX ร่วมกับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอ (WHA) จำนวน 54 ราย แล้วในปีที่ผ่านมา ก่อนจะพัฒนาให้สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้จริงตามมา ภายใต้งบลงทุนรวมทั้งหมด18,500 ล้านบาท
สำหรับภาพระยะสั้น เฉพาะปีนี้ ในส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค พร้อมเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งหมดเพิ่มจากปีก่อน 23 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 168 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เป็นการเติบโตจากในประเทศ 135 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือมาจากเวียดนาม หนุนจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้า ทั้งจากลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังเตรียมดำเนินการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง กำลังการผลิตปีละ 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากได้ขยายโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กำลังการผลิตปีละ 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเดินหน้าโครงการเพื่อจัดหาน้ำดิบทดแทน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวมปีละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรกมีขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จะเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาสแรกนี้
ส่วนที่เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ 3 โครงการนั้น คาดว่า ยอดจำหน่ายน้ำจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามการเติบโตของฐานลูกค้า และพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับธุรกิจพลังงาน พร้อมเร่งขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่ม 164 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 300 MW ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทฯ เข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งเปิดรับซื้อโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมี 5 โครงการผ่านการคัดเลือกรอบแรก รอลุ้นผลการตัดสินรอบสุดท้ายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้