3133 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายของ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ออกมาพลิกความคาดหมายตลาด เมื่อธนาคารมีการกันสำรองเพิ่มสูงกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท กดให้ผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายลดลง 69.8% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 67.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) พร้อมกับฉุดให้ผลดำเนินงานรวมทั้งปีลดลง 6.0% จากปีก่อนหน้า
ล่าสุด นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้ออกมาเปิดเผยเป้าหมายทางการเงินปีนี้ว่า การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในรูปแบบ K-Shape มีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเภทธุรกิจ ทำให้ธนาคารจะเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น พร้อมกับยังคงบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมหนี้เสีย (NPLs) ให้ต่ำกว่า 3.25% และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง (Credit Cost) ในช่วง 175-200 bps ลดลงจากระดับสูงสุดในปีก่อน พร้อมกับคัดกรองและดูแลคุณภาพของสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยกำหนดเป้าหมายการขยายสินเชื่อทั้งปีที่ 5-7% แบ่งเป็นเป้าสินเชื่อบรรษัทธุรกิจ ในอัตรา 4-6% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ในอัตรา 1-2% และสินเชื่อลูกค้าบุคคล ในอัตรา 2-4%
สำหรับเป้าหมายด้านผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) กำหนดไว้ที่ 3.30-3.45% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และการเติบโตสินเชื่อของธนาคาร ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) ตั้งเป้าทรงตัวจากปีก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการทำธุรกรรม แต่ธนาคารจะขยายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวกับ Wealth Management เพื่อช่วยบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว
ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) ธนาคารพร้อมให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับ Low to Mid-40s
โอกาสนี้ ผู้บริหาร KBANK ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจด้วยว่า พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) โดยยึดมั่นกับหลักการ ESG การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการต่อยอดจากธุรกิจธนาคารแบบเดิม (Beyond Banking & Innovation) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้คงความเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล (Dominate Digital Payment) ไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน รวมถึงส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 โดยใช้ K PLUS เป็นช่องทางหลักในการเชื่อมโยงทุกช่องทางเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life & Business) และนำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
การชี้แจงยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ และเป้าหมายทางการเงินครั้งนี้ ได้รับการตีความจากนักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อ KBANK
ดาโอ (DAOL) บอกว่า เป้าหมายทางการเงินปีนี้ ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์คาด เพราะธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโตที่ 5-7% (คาด 4%) จากสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อยที่เป็น high yield โดยเฉพาะ digital loan ส่วน NIM อยู่ที่ 3.30-3.45% (คาด 3.30%) ทรงตัวเมื่อเทียบปีก่อนที่ 3.33% เพราะจะเน้นรายใหญ่มากขึ้น ส่วน Credit cost ที่ 175-200 bps (คาด 180 bps) ทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง เพราะธนาคารมองเห็นความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ และตั้งเป้าที่จะ clean up NPL ให้หมดในปีนี้ จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่คาดกำไรสุทธิไตรมาสแรก จะทรงตัว YoY จากแนวโน้มการกันสำรองที่ยังทรงตัวระดับสูง แต่จะเพิ่มขึ้น QoQ จากฐานต่ำและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงตามปัจจัยฤดูกาล
อย่างไรก็ดี การที่ราคาหุ้นปรับลงจากประเด็นเรื่องกำไรไตรมาสสุดท้ายปีก่อนออกมาต่ำคาดไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้ยังแนะนำ "ซื้อ" เพราะ valuation ยังไม่แพงซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.69 เท่า เทียบกับคู่แข่งอย่าง SCB ที่ซื้อขายที่ P/BV ที่ 0.80 เท่า และราคาเป้าหมายที่ 175 บาทอิง P/BV ที่ 0.78 เท่า (-1.25SD below 10-yr average P/BV)
ด้านเมย์แบงก์ (MST) เชื่อว่า KBANK จะได้รับประโยชน์จาก NIM ที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของรายได้จากการประกันภัยสุทธิในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสินเชื่อน่าจะยังคงสูงเนื่องจากธนาคารจำเป็นต้องสะสางสินเชื่อที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะสาเหตุที่ทำให้ NPL เพิ่มขึ้น ได้รับการชี้แจงว่า มาจาก 4 ส่วน ส่วนแรก 50% จากสินเชื่อในช่วงสถานการณ์โควิด ปี 2564-65 ส่วนที่สอง 20% จากสินเชื่อเดิมก่อนโควิด ส่วนที่สาม 20% จากสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงที่ไม่มีหลักประกัน และส่วนที่เหลือจากสินเชื่อปกติ ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องจำกัดต้นทุนสินเชื่อที่ 211bps และขาย NPLs ออกไป 7.2 หมื่นล้านบาท และตัดหนี้สูญ NPLs ปีที่แล้วที่ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่ายอดตัดหนี้สูญปีนี้จะลดลง YoY แต่ยอดขาย NPLs จะทรงตัว YoY เป็น 3.25%
สำหรับในแง่กลยุทธ์ การที่ราคาหุ้น KBANK อาจปรับขึ้นดีกว่าตลาดในระยะสั้น เนื่องจากคาดนักลงทุนเก็งประเด็นกำไรครั้งเดียวจากการถอนการลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ส่งผลให้ลดความกังวลในประเด็นต้นทุนสินเชื่อที่สูง แต่หากมองภาพระยะกลางถึงยาว ยังแนะนำ “ถือ” โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 160 บาท อิง P/BV ที่ 0.7 เท่า ROE 8.8% หรือ "Switch" ไป BBL แทน เนื่องจากงบดุลที่แข็งแกร่งกว่า โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 180 บาท
ส่วนแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHS) ชี้ว่า การที่ KBANK ถือเป็นผู้นำด้าน digital banking อีกทั้งได้ผลบวกจากการขึ้นดอกเบี้ย บวกกับการเน้นสินเชื่อรายย่อย High Yield ยังช่วยเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยให้เติบโตดีขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น การคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดีขึ้้น ทำให้เชื่อว่าธนาคารจะมีกำไรปีนี้สูงขึ้น เป็น 39,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6% จึงคงแนะนำ "ซื้อลงทุน" ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 171 บาท อิง P/BV ที่ 0.76 เท่า พร้อมคาดเงินปันผล 2.75 บาท สำหรับกำไรงวดครึ่งหลังปีก่อน รวมทั้งปีจ่าย 3.25 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 2.2%
สำหรับประเด็นการขายบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (K-ASSET) ทางผู้บริหาร ชี้แจงเพียงกำลังพิจารณาทบทวนแผนกลยุทธ์ที่มีต่อธุรกิจ โดยแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และแนวทางเพิ่มเติมที่จะสร้างประโยชน์ต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือ ยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่า KBANK จะตัดขายธุรกิจแค่บางส่วน และรับรู้เป็นกำไรพิเศษตามมา
ส่วนเอเซีย พลัส (ASPS) ยังคงคิดเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ และ Credit Cost ที่น่าจะยังมีอยู่ตลอดครึ่งแรกปีนี้ ก่อนจะเบาลงในครึ่งปีหลัง ทำให้ปรับลดกำไรปีนี้และปีหน้าลงจากประมาณการเดิม 14% มาอยู่ที่ 4.0 หมื่นล้านบาท และ 4.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ พร้อมปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 159 บาท อิง P/BV ที่ 0.73 เท่า เทียบกับเดิมที่ใช้ P/BV ที่ 0.80 เท่า และเนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ยังคลุมเครือ และราคาหุ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นมาพอสมควรแล้ว จึงลดคำแนะนำจาก "ซื้อ" เป็น "Switch" ไปยัง TISCO หรือ BBL แทน