3163 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มีกำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท ลดลง 69.8% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 67.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุจากมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss - ECL) เพิ่มจากปีก่อนมากถึง 22,784 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ภาพรวมการดำเนินงาน ธนาคารมีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้น 18.4% QoQ และ 16.2% YoY ทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับตัวดีขึ้น และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 53.3% QoQ และ 13.0% YoY
ส่วนผลดำเนินงานรวมทั้งปี ธนาคารมีกำไรสุทธิ 35,770 ล้านบาท ลดลง 6.0% YoY แต่หากหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ธนาคารจะมีกำไร 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.7% YoY หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11.4% ตามการเติบโตของสินเชื่อ และ NIM ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.14% เป็น 3.33%
โดยเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 70,264 ล้านบาท หรือ 3.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า เป็น 2.49 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้ากลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงาน ลดลง 3,700 ล้านบาท หรือ 8.4% YoY ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ 3.19% ลดลงจาก 3.76% ในสิ้นปีก่อน ส่วนอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.04%
ผลดำเนินงานของ KBANK ถือว่าพลิกความคาดหมายของตลาด และทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงลบ และพร้อมทบทวนประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายอีกครั้ง หลังการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ในเบื้องต้น เอเซีย พลัส (ASPS) บอกว่า มีความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ ที่ยังดูคลุมเครือ ทั้งสัดส่วน NPL/Loan ที่เพิ่มขึ้น และสินเชื่อจัดชั้นในระดับ 2 (มีการชำระเกิน 30 วัน) ไม่ได้ลดลง ถึงแม้ธนาคารจะตั้งสำรองสูงแล้ว แต่ระดับสำรองยังต่ำกว่าในอดีต ทำให้คาดว่าแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ และ Credit Cost น่าจะยังมีอยู่ตลอดครึ่งแรกปีนี้ ก่อนจะเบาลงในครึ่งปีหลัง ทำให้ในเบื้องต้นปรับลดกำไรปีนี้และปีหน้าลง 14% พร้อมปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 159 บาท อิง P/BV ที่ 0.73 เท่า เทียบกับเดิมที่ใช้ P/BV ที่ 0.80 เท่า และเนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ยังคลุมเครือ และราคาหุ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นมาพอสมควรแล้ว จึงลดคำแนะนำจาก"ซื้อ" เป็น "Switch" ไปยัง TISCO หรือ BBL แทน
ด้านอินโนเวสท์ เอ็กซ์ (InnovestX) คิดคล้ายกัน เมื่อปรับลดคําแนะนําจาก "ซื้อ" เป็น "NEUTRAL" โดยให้เหตุผลว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 10% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และการที่ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์แย่กว่าคาด ทำให้พร้อมทบทวนราคาเป้าหมายและประมาณการกําไรอีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ขณะที่บัวหลวง (BLS) ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลง 9.5% และราคาเป้าหมายลงเป็น 172.50 บาท จากเดิม 177 บาท เพื่อให้สะท้อน Credit-cost ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" เพราะยังเชื่อว่า KBANK จะยังมีการเติบโตของสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของ NIM ช่วยขับเคลื่อนผลดำเนินงานให้เติบโตได้ โดยจะเห็นการฟื้นตัวของกำไรในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น QoQ แต่ลดลง YoY ตามสำรองที่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับทรีนีตี้ (TNITY) ที่บอกว่า ในภาพรวมยังมองผลดําเนินงานปกติยังคงดี แต่ถูกกดดันโดยการตั้งสํารองหนี้ในระดับสูง จึงคงราคาเป้าหมายที่ 177 บาท และแนะนํา "ซื้อ" อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาจมีการปรับประมาณการอีกครั้งหนึ่ง