หุ้นกลุ่มธนาคาร ยังถูกไหม ตัวไหนน่าสน

2844 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หุ้นกลุ่มธนาคาร ยังถูกไหม ตัวไหนน่าสน

 

จากการตรวจสอบแนวโน้มหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งเป็นหุ้นที่จะรายงานผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีก่อนนำร่องก่อนกลุ่มอื่นๆ พบว่า นักวิเคราะห์หุ้นส่วนใหญ่ จะคาดการณ์ว่า กำไรไตรมาสสุดท้ายปีก่อนจะเติบโตต่อเนื่องเทียบรายปี (YoY) แต่อ่อนตัวเทียบรายไตรมาส (QoQ) โดยเสียงส่วนมากยกให้ BBL เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรไตรมาสสุดท้ายโดดเด่นทั้ง QoQ และ YoY

ค่ายฟิลลิป (PLS) คาดกลุ่มธนาคารจะมีกำไรไตรมาสสุดท้ายปีก่อนรวมกัน 5.0 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% YoY หนุนโดยรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ประกอบกับการตั้งสำรองคาดลดลงจากปีก่อน แต่คาดว่าจะลดลง 3% QoQ เนื่องจากธนาคารต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และคาดจะมีการตั้งสำรองที่สูงในหลายธนาคาร

ค่ายสีน้ำเงินรายนี้ เชื่อว่า KTB จะมีกำไร 8.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 64% YoY ผลักดันโดยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ย ขณะที่การตั้งสำรองลดลงมาก ส่วน BBL น่าจะมีกำไร 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% QoQ เพราะเชื่อว่าสัดส่วนการกันสำรองต่อหนี้เสียที่ BBL มีเป็นจำนวนมาก ทำให้การตั้งสำรองลดลง  

 



เช่นเดียวกับอินโนเวสท์เอ็กซ์ (InnovestX) ที่ประเมินแนวโน้มกําไรสุทธิกลุ่มธนาคารจะลดลง 3% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 21% YoY โดยมีทิศทางคละเคล้ากันไปในแต่ละธนาคาร สาเหตุจากสินเชื่อเติบโตในระดับตํ่าเพียง 3.1 YoY และทั้งปี (YTD) ที่ 2.1% ขณะที่การตั้งสํารองเพิ่มขึ้น อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกิดจากธุรกรรมในตลาดทุนลดลง YoY สวนทางค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล

ค่ายสีม่วงรายนี้ ระบุว่า BBL และ SCB จะเป็น 2 ธนาคารที่รายงานกําไรสุทธิเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากการตั้งสํารองลดลง และ NIM ที่กว้างขึ้น ในทางกลับกัน KBANK และ KKP จะเป็นธนาคารที่รายงานกําไรสุทธิลดลงทั้ง QoQ และ YoY เพราะตั้งสํารองเพิ่มขึ้น

ส่วนกรุงศรี (KSS) คาดว่ากำไรรวมของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 15% YoY โดยสาเหตที่ทำให้กำไรรายไตรมาสลดลง เกิดจาก OPEX เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล โดยประเมินสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 40% ปลายๆ เนื่องจากต้นทุนบุคคลกร การบริหาร และค่าใช้จ่ายด้านระบบ IT มีการบันทึกเข้ามาสูงในช่วงปลายปี

สำหรับการเติบโตของกำไรเทียบปีต่อปี เกิดจากพอร์ตสินเชื่อที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับดีขึ้น และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ทยอยกลับเข้าสู่ระดับปกติ

คล้ายกับไพ (PI) ที่คาดธนาคาร 7 แห่งที่วิเคราะห์อยู่จะมีกำไรสุทธิรวมกัน 4.26 หมื่นล้านบาท เติบโต 20% YoY แต่ลดลง -4% QoQ) โดยการเติบโต YoY ได้แรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่สูงขึ้้นจากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่ขยายตัวขึ้น และการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลง แม้รายได้ค่าธรรมเนียมจะเบาบางก็ตาม ส่วนที่ชะลอตัวเล็กน้อย QoQ เป็นเพราะ OPEX ที่สูงขึ้นจากปัจจัยฤดูกาล แต่ยกเว้นเพียง BBL และTISCO จะที่คาดจะมีกำไรโตทั้ง YoY และ QoQ

สำหรับกสิกรไทย (KS) และหยวนต้า (YUANTA) กลับเป็นเพียงค่ายส่วนน้อยที่เชื่อว่า หุ้นกลุ่มธนาคารจะมีกำไรไตรมาสสุดท้ายปีก่อนเติบโตต่อเนื่อง เทียบทั้งรายไตรมาส (QoQ) และรายปี (YoY) โดย KS คาดว่ากำไรรวมของธนาคาร 7 แห่งภายใต้การวิเคราะห์ จะโตขึ้น 7% QoQ และ 40% YoY เป็น 4.51 หมื่นล้านบาท กำไรที่เติบโต QoQ มาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ลดลง ขณะที่กําไรจากการดําเนินงานก่อนตั้งสํารอง (PPOP) ทรงตัว QoQ เพราะแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) มีแนวโน้มดีขึ้นตามอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น แต่ก็ถูกหักล้างด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (opex) ที่สูงขึ้นตามฤดูกาล 

สำหรับกำไรที่เติบโตแข็งแกร่ง YoY มีปัจจัยหนุนจากส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) ที่สูงขึ้น หลังจากธนาคารต่างๆ ทยอยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มีแนวโน้มลดลงอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย

ค่ายสีเขียวรายนี้ ประเมินว่า BBL และ SCB จะรายงานการเติบโตของกำไรไตรมาสสุดท้ายโดดเด่นทั้ง QoQ และ YoY โดยคาดว่า BBL จะรายงานกำไรสูงขึ้น 23% QoQ และ 49% YoY หนุนจาก ECL ที่ลดลงและ NIM ที่เพิ่มขึ้น ส่วน SCB รายงานกำไรเติบโต 16% QoQ และ 51% YoY จากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันผ่านช่องทางธนาคารที่สูงขึ้นตามฤดูกาลและ credit cost ที่ลดลง

 



ขณะที่ YUANTA คาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารโตเด่น 26.6% YoY และ 1.3% QoQ แม้ค่าใช้จ่ายจะเร่งตัวขึ้น แต่คาดจะถูกชดเชยด้วยรายได้ดอกเบี้ยรับที่โตดี หลังธนาคารต่างๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ โดย BBL จะมีกำไรโตเด่นสุด QoQ ในกลุ่มธนาคารใหญ่ หลังตั้งสำรองจำนวนมากในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่า การตั้งสำรองจะผ่อนคลายลง ส่วน KKP เป็นธนาคารขนาดกลางและเล็กที่กำไรโตดี หลังพอร์ตสินเชื่อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมธุรกิจปีนี้ ทุกค่ายคิดตรงกันว่า หุ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายเฉลี่ยที่ P/BV เพียง 0.6 เท่า หรือเทียบเท่า -1.0SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ยังมี Upside จากการที่ตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มการขยายตัวของ NIM และการตั้งสำรองที่ลดลงจึงแนะนำให้มีติดพอร์ต

KSS ชี้ว่า กลุ่มธนาคารจะได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ หนุนให้อุปสงค์สินเชื่อแข็งแกร่งขึ้น NIM ฟื้นตัวต่อ และคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยยกให้ SCB (ราคาเป้าหมาย 155 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 180 บาท) เป็นหุ้นเด่น เพราะคาดว่า SCB จะได้แรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยอย่าง มากเพราะธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดในสินเชื่อโรงแรมสูงที่สุดที่ประมาณ 20% ขณะเดียวกัน มอง BBL จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์สินเชื่อที่แข็งแกร่งจากการ ลงทุนภาคเอกชน และการส่งผ่านผลของการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างราบรื่นเพราะลูกค้า ธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมี financial profile ที่แข็งแรง

PLS คงมุมมองบวกต่อกลุ่มธนาคารจากการได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย ความกังวลต่อ NPL เริ่มลดลง และความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่น้อยลง น่าจะทำให้การเติบโตของสินเชื่อยังคงมีต่อในปีนี้ จึงคงน้ำหนัก “ลงทุนมากกว่าตลาด” และเลือก BBL (ราคาเป้าหมาย 159 บาท) เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม

ส่วน YUANTA เลือก BBL (ราคาเป้าหมาย 175 บาท) เป็น Top Pick ของกลุ่ม จากผลดำเนินงานที่คาดโตเด่นสุดในกลุ่ม และ TISCO (ราคาเป้าหมาย 116 บาท) ที่มีความน่าสนใจจากการจ่ายปันผลสูง คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ 7.2% จ่ายปีละ 1 ครั้ง

ขณะที่ PI ชอบหุ้นธนาคารขนาดใหญ่มากที่สุด เพราะพอร์ตสินเชื่อหลากหลายมากกว่า ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยกระตุ้นให้ NIM สูงขึ้น หนุนให้แนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิสูงขึ้น โดยมี BBL (ราคาเป้าหมาย 171 บาท) เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และ TISCO (ราคาเป้าหมาย 112.00 บาท) เป็นตัวแทนหุ้นธนาคารขนาดกลางและเล็ก จากเงินปันผลที่สูง

 

 


สำหรับอินโนเวสท์เอ็กซ์ (InnovestX) ยกให้ KTB (ราคาเป้าหมาย 20 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 168 บาท) เป็นหุ้นเด่น เพราะมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด อีกทั้งความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ และมี valuation น่าสนใจ

เช่นเดียวกับ KS ที่ยกให้ KTB (ราคาเป้าหมาย 20 บาท) เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพอร์ต และ ROE ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เช่นเดียวกับ TTB (ราคาเป้าหมาย 1.59 บาท) ที่ได้แรงหนุนจากการเพิ่มพอร์ตสินเชื่อรายย่อย และการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต (TBANK) ช่วงก่อนหน้านี้

ล่าสุด ทิสโก้ (TSC) ได้ปรับประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารใหม่ เพราะคาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะมีการปรับตัวที่ดีกว่าตลาดไปจนจบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของ ธปท. ในไตรมาส 2 โดยเลือก BBL กับ SCB เป็นหุ้นแนะนำ สำหรับสายปันผลแนะนำ KKP

 

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้