2867 จำนวนผู้เข้าชม |
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovsetX) บอกว่า การที่เศรษฐกิจโลกปีหน้ามีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป มีความเสี่ยงจะเกิดการถดถอย (Receesion) มากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา หลังจากอุปสงค์มีแนวโน้มหดตัว พร้อมกับฉุดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินไหลเข้า
ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีนี้ แรงกดดันหลักจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และการบริโภคในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต และช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีความเป็นไปได้สูงว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร็วที่สุดในไตรมาสแรก ด้วยอัตราขยายตัวระดับ 4% หนุนโดยการฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศที่ได้อานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นหลัก ก่อนจะค่อยๆ ชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับการกลับมาเปิดประเทศของจีน ที่คาดหมายกันว่าจะเกิดในไตรมาส 2 ปีหน้า ตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการผ่อนคลายนโยบายของจีน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวของไทยในสัดส่วนที่สูง ช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสุทธิ ทำให้มีการคาดหมายกันว่า ปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 21-25 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะใกล้ (short-haul) มากกว่าระยะไกล (long-haul) ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศน้อยกว่า
ดังนั้น ภาพการลงทุนปีหน้า InnovestX ประเมินดัชนีเป้าหมายอิงกับปัจจัยพื้นฐานที่ 1,750 จุด จุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,500-1,600 จุด
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย InnovestX อธิบายว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านของปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะ 3 ประการ ประการแรก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างตลาดพัฒนาแล้ว (DM) กับตลาดเกิดใหม่ (EM) จะแตกต่างกัน โดย DM มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะ stagflation อย่างรุนแรง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่เคยคาด หรือเกิดภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ อย่างในสหรัฐฯ ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ EM จะชะลอตัวลง แต่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยรุนแรงน้อยกว่า
ประการที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากฐานที่สูง และอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลง อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาด DM เชื่อว่าสูงเกินไป ขณะที่ประเทศฝั่ง EM รวมถึงไทย คาดจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดการเงินมีแรงกดดันจากภาวะการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย กดดันให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจแสดงสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งจะกดดันความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนให้ชะลอตัวลง ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวลงถึงจุดต่ำสุดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นภายในปลายไตรมาสแรก ต่อเนื่องต้นไตรมาส 2 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน และอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีปัจจัยพื้นฐานดี ทั้งการมีงบดุลและกระแสเงินสดที่ดี กำไรมีแนวโน้มเติบโตและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องชัดเจน ได้แก่ AOT BBL BCP CPALL และ MINT
ทั้งนี้ ประเด็นการลงทุนของหุ้นรายตัว สรุปได้ดังนี้
• AOT : เป็นบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนและการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐที่จะช่วยหนุนการเติบโตจากตลาดภายในประเทศ และแนวโน้มกำไรจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในปีหน้า
• BBL : เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้ และได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2.00% ในปีหน้า นอกจากนั้น ยังมองการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกับกระแสเงินไหลเข้า ซึ่งกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากประเด็นนี้
• BCP : มองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน นอกจากนั้นบริษัทเป็นบริษัทที่มีลักษณะเชิงรับและมีเงินปันผลดีซึ่งสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ดี
• CPALL : มองการบริโภคในประเทศที่จะมีการเติบโตได้อย่างโดดเด่นและมีแนวโน้มที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยให้ยอดขายฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากช่วงการเลือกตั้งในปีหน้าอีกด้วย
• MINT : เป็นบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน ต้นทุนพลังงานในยุโรปเริ่มมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ นอกจากนั้น มูลค่าหุ้นยังต่ำกว่ากลุ่มราว 15-20%