2744 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. ดีทีซี เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ไม่ได้ขายในช่วงครึ่งวันเช้า เพราะหลังจากเปิดตลาดที่ 2.90 บาท เหนือจอง 4 สตางค์ มีแรงซื้อหนุนราคาให้ไต่ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวันที่ 2.98 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 4.19% แต่หลังจากนั้น เริ่มมีแรงขายโถมออกมา กดราคาหุ้นให้อ่อนตัวลงมาเล็กน้อย และแกว่งตัวแคบๆ บริเวณราคาจองตลอดภาคเช้า กระทั่งปิดครึ่งวันที่ 2.92 บาท เหนือจอง 6 สตางค์
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตลาดภาคบ่าย แรงซื้อเริ่มหดหายลงไป ทำให้เมื่อมีแรงขายโถมออกมา ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับฐานลงเป็นลำดับ กระทั่งปิดทำจุดต่ำสุดของวันที่ 2.48 บาท ต่ำจอง 38 สตางค์ หรือคิดเป็นผลขาดทุนราว 13.3% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,205 ล้านบาท
ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร แต่นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ DTCENT ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทีมผู้บริหารและพนักงานให้คำมั่นว่าจะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อทำให้ชื่อเสียงของบริษัทฯ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจจัดจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์ติดตามรถ GPS Tracking, Mobile DVR และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ในรุ่นใหม่ๆ รวมถึงเร่งยกระดับการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นของตนเอง ระบบ IoT Solution และระบบ AI เช่น แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการชุมชนเมือง (Smart City Solutions) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเทศบาลในการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น และแพลตฟอร์มอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ตลอดจนสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเข้าลงทุนในธุรกิจที่คล้ายคลึงและมีความเกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงเตรียมขยายธุรกิจไปในตลาดอาเซียน ในรูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตรจากต่างประเทศ จากเงินระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในอนาคต ประมาณ 772.81 ล้านบาท ยิ่งบริษัทฯ มีฐานะทางการเงินเป็น Net cash position ทำให้มีความพร้อมที่จะรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
ขณะที่นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน DTCENT กล่าวเสริมถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ว่า นอกจากบริษัทฯ จะเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS Tracking หมายเลข 1 ในประเทศไทย มีทีมงานในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ได้เอง และประสบการณ์ ความชำนาญในอุตสาหกรรมของผู้บริหารที่ยาวนานกว่า 25 ปี และพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งกลุ่มยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) และบริษัทบุญรอด ซัพพลายเชน (BRS) ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการตลาด และการวิเคราะห์ข้อมูล
ย่ิ่งไปกว่าน้้น การที่บริษัทฯ มีสถานะ Net cash position และด้วยฐานะการเงินไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน และเงินที่ได้จากการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ซึ่งมีส่วนในการได้รับงานโครงการในระยะข้างหน้าอีกด้วย ทำให้เชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาวได้อย่างแน่นอน