2363 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ดู เดย์ ดรีม (DDD) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีรายได้จากการขาย 392.94 ล้านบาท เติบโต 40.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่หากคิดรวมรายได้จากการลงทุน การขายสินทรัพย์ทางการเงิน และการปรับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มเติม 85.10 ล้านบาท จะทำให้รายได้รวมเติบโต 56.2% เป็น 478.05 ล้านบาท พร้อมกับพลิกจากขาดทุนสุทธิ 130.87 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีก่อน มาเป็นกำไรสุทธิ 11.38 ล้านบาท หรือเติบโต 108.7% YoY หนุนให้ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ พลิกจากขาดทุนสุทธิ 23.36 ล้านบาท มาเป็นกำไรสุทธิ 39.06 ล้านบาท ตามการเติบโตของรายได้จากการขายที่รายได้ที่เติบโต 35.98% YoY แตะระดับ 1,180.55 ล้านบาทเสริมด้วยการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โอกาสนี้ นางสาวนันทวรรณ สุวรรณเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DDD ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเติบโตของยอดขายช่วง 9 เดือนปีนี้ ขับเคลื่อนโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในสัดส่วน 48.53% และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงามในสัดส่วน 42.43% โดยยอดขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีการเติบโตโดดเด่นในตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 31.48% ของยอดขายรวม ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามมีการเติบโตจากตลาดในประเทศสูงถึง 42.29% ทำให้ในโค้งสุดท้ายปีนี้ บริษัทฯ พร้อมรุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบในของรายได้ไตรมาส 4 และพร้อมออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย อาทิ คอลเลคชั่นพิเศษแห่งปี DDD X SMILEY LIMITED EDITION เพื่อกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามในประเทศ ที่เติบโตจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
"ผลดำเนินงานที่กลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่องตลอด 3 ไตรมาสปีนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าแผนงานและกลยุทธ์ที่วางไว้ จะนำบริษัทฯ ไปสู่เป้าหมายรายได้เติบโต 30% ตามที่ตั้งเอาไว้ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี บริษัทฯ จะยังคงพุ่งเป้าไปที่การขยายตลาดส่งออก พร้อมกับเดินหน้าแผน Synergy Roadmap ภายในกลุ่มเพื่อลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต ด้วยการขยายตลาดรับจ้างผลิตสินค้า เพื่อสร้างโอกาสขยายธุรกิจและก้าวสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป" ผู้บริหาร DDD ย้ำประเด็น
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ เบื้องต้น ค่ายกสิกรไทย (KS) คงประมาณการกำไรปกติ 3 ปีนี้ (2565-67) ที่ 136 ล้านบาท 158 ล้านบาท และ 173 ตามลำดับ พร้อมคงราคาเป้าหมายสิ้นปีหน้าที่ 18.88 บาท อิง PER ที่ 31.4 เท่า (-0.75 SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4 ปี) ตามเดิม แต่แนะนำ "ถือ" เพื่อรอดูความชัดเจนจากภาพธุรกิจอีกครั้ง เพราะธุรกิจมีทั้งปัจจัยบวกและลบผสมผสาน
โดยปัจจัยบวก ได้แก่ ยอดขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่แข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ การควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ยอดขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามในประเทศที่ชะลอตัวลง เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส (QoQ) ความผันผวนของรายได้จากการลงทุน และภาพการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีน