2414 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) เมื่อราคาหุ้นยืนเหนือจองได้เพียงแค่ครึ่งชั่วโมง โดยหลังจากเปิดตลาดที่ 4.02 บาท สูงกว่าราคาจองที่ 2 สตางค์ มีแรงซื้อดันราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 4.22 บาท หรือให้ผลตอบแทน 5.5% กลับโดนแรงขายทำกำไรกระจายตัวออกมาเรื่อยๆ กดราคาหุ้นให้อ่อนตัวลงมาแกว่งใกล้เคียงราคาจอง และปิดภาคเช้าที่ 3.98 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 2 สตางค์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดจะมีวันหยุดยาว ทำให้เมื่อตลาดเปิดทำการภาคบ่าย แรงซื้อเริ่มเหือดหายลงไป ส่งผลให้ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับฐานลงเป็นลำดับ ตามแรงขายที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนราคาหัุ้นประคองตัวบริเวณ 3.58 บาท ก่อนถูกทุบช่วง Call Market มาปิดตลาดทำจุดต่ำสุดที่ 3.42 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 58 สตางค์ คิดเป็นผลขาดทุน 14.5%
กระนั้น นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเทศไทย (CGS-CIMBS) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ขอให้นักลงทุนมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของ PCC ที่มีความแข็งแกร่ง จากการที่บริษัทฯ อยู๋ในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงทางด้านรายได้ สามารถสร้างรายได้ทั้งในส่วนการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า งานรับเหมาก่อสร้าง และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า อีกทั้งยังมี Backlog ชัดเจน นอกจากนี้ ยังจะมีรายได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนต่างๆ และการรับรู้รายได้ใหม่ๆ จากโรงงานที่กัมพูชา ทยอยเกิดขึ้นในปีหน้า และปีถัดไป (2566-67) ผลักดันการเติบโตทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ขณะเดียวกัน นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC ชื้แจงแนวทางสร้างการเติบโตทางธุรกิจเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) สิ้นไตรมาส 2 มูลค่ากว่า 2.3 พันล้านบาท รับรู้รายได้ปีนี้ราว 1.2 พันล้านบาท ที่เหลือรับรู้รายได้ปีหน้า และน่าจะได้งานใหม่ๆ เติม Backlog หากมีการเปิดประมูลงานในระยะต่อไป เพราะบริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน ผลิตภัณฑ์ และความชำนาญในธุรกิจ Smart Grid ครบวงจร สามารถรองรับระบบ Smart Grid Technology platform ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของระบบสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน. มีแผนลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยช่วง 20 ปีนี้ (2558-2579) มูลค่ารวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ขยายฐานรายได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอีก 3 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมปีละประมาณ 1,080 MVA ภายในปี 2567 และเพิ่มกำลังการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า เพิ่มจากปีละ 2,000 ถัง เป็นปีละ 7,500 ถัง และเพิ่มกำลังการผลิตตู้โลหะสำหรับตู้สวิตช์เกียร์ และตู้สวิตช์บอร์ด อุปกรณ์ควบคุม เพิ่มจากปีละ 2,000 ตู้ เป็นปีละ 3,200 ตู้ ขณะเดียวกัน โครงการโรงงานผลิตหม้อแปลง และตู้ควบคุมไฟฟ้าในกัมพูชา คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ต้นปีหน้าทันที ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะสร้างการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และส่งต่อผลตอบแทนที่ดีคืนกลับผู้ถือหุ้นต่อไป