ฟันธง สายสัมพันธ์ทุนญี่ปุ่่น ดอกเบี้ยขาขึ้น และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น 3 ปัจจัยขับเคลื่อนกำไร BAY

2396 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฟันธง สายสัมพันธ์ทุนญี่ปุ่่น ดอกเบี้ยขาขึ้น และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น 3 ปัจจัยขับเคลื่อนกำไร BAY

บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 มีกำไร 8.1 พันล้านบาท เติบโต 26.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 3.0% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงาน 405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% YoY และ 1.2% QoQ เสริมด้วยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ  ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้น 4.8% QoQ เป็น 1,228 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อ 885 ล้านบาท สอดคล้องกับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ 299 ล้านบาท ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระหว่างไตรมาส ประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 ปรับเพิ่มมาที่ 3.49% เทียบกับ 3.32% ในไตรมาส 2 เช่นเดียวกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 อยู่ที่ 8,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 227 ล้านบาท หรือ 2.8% จากไตรมาส 2

ส่วนผลดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2.33 หมื่นล้านบาท เติบโต 21.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) กลับมาอยู่ในระดับปกติ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) เพิ่มขึ้นสอดรับกับการขยายตัวของสินเชื่อรวม 3.9% โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เติบโต 6.0% และ 6.2% ตามลำดับ อีกทั้งธนาคารยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนุนให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.44% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติอยู่ที่ 43.4% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้น บมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR) ในปีที่ผ่านมา ธนาคารจะมีกำไรสุทธิลดลง 14.9% YoY

ณ สิ้นเดือนกันยายน ธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อยู่ที่ 19,697 ล้านบาท ลดลง 16.1% YoY โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน ที่ 2.20% เป็น 2.38% จากนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวด และยังมีการตัดขายหนี้เสียออกไป 2.1 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ลดลงจาก 184.2% ในสิ้นปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 175.0%

ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 297.13 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.62% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.99%

โอกาสนี้ นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY ยืนยันด้วยว่า จะยังคงดำเนินนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบระมัดระวังต่อเนื่อง ควบคู๋ไปกับการขยายสินเชื่อรวมให้เติบโตได้ตามขอบบนของกรอบเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 3-5%  

 



สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทุกสำนักเชื่อว่า การเติบโตของกำไรของ BAY ในระยะต่อไป จะมาจากการได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นซื้อขายที่ P/BV เฉลี่ยของกลุ่ม ทั้งที่จ่ายปันผลในอัตราต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่ และยังมี story การเติบโตที่ไม่โดดเด่นเท่าธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้เสียงส่วนใหญ่ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 36 บาท แต่ก็มีบางสำนักที่ให้มูลค่าเหมาะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเช่นกัน 

บัวหลวง (BLS) คาดกำไรไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 19% YoY หนุนโดยการเติบโตของสินเชื่อ และ NIM ที่ขยายตัว แต่ลดลง 6% QoQ จากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล ส่งผลให้ปรับประมาณการกำไรทั้งปีเพิ่มขึ้นเพียง 2.6% เป็น 3.08 หมื่นล้านบาท และปรับประมาณการกำไรปีหน้าขึ้น 9% เป็น 3.35 หมื่นล้านบาท ขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับราคาเป้าหมายปีหน้าเป็น 40 บาท อิง P/BV ที่ 0.8 เท่า โดยคาดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 3.6%

ส่วนฟิลลิป (PLS) บอกว่า การที่ BAY เป็นบริษัทลูกของธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่บุ่น จึงทำให้พอจะคาดหวังการเติบโตจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น และธุรกิจข้ามชาติได้ จึงคงแนะนำ "ซื้อ" โดยให้ราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 39.50 บาท เพราะหากมองจากภาพรวมสินเชื่อในไตรมาส 3 การเพิ่มขึ้นจะไม่มาก เพียง 0.8% QoQ โดยเป็นการเพิ่มจากสินเชื่อแทบทุกประเภท โดยสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้น 1% QoQ หนุนโดยสินเชื่อจากธุรกิจญี่บุ่นและธุรกิจข้ามชาติที่เติบโต 6% QoQ ชดเชยสินเชื่อธุรกิจไทยที่หดตัวลง 1.7% QoQ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเติบโต 0.7% QoQ ผลักดันโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวลงเล็กน้อย

สำหรับ NPL แม้จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.11% ในไตรมาส 2 เป็น 2.38% แต่ก็เกิดจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพเชิงรุกของธนาคารเอง ทำให้พอจะวางใจแนวทางควบคุมคุณภาพหนี้ได้ในระดับหนึ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้