2535 จำนวนผู้เข้าชม |
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแผนลงทุนในธุรกิจศูนย์ให้บริการโลจิสติกส์และกระจายสินค้า (Logistics & Distribution Center) ศูนย์ให้บริการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics Center) ธุรกิจห้องเก็บของให้เช่า (Self Storage) ธุรกิจคลังสินค้า และให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร (Warehouse & Integrated Logistics Services) กับธุรกิจการเป็นตัวแทนจัดหาสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปประเทศจีน (Buying & Sourcing Agent) ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ 4 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture - JV) รวม 3 แห่ง คิดเป็นงบลงทุน 261.44 บาท เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างน้อยปีละ 200 ล้านบาท ภายใน 3 ปีนี้
โดยแผนลงทุนธุรกิจ Logistics & Distribution Center บริษัทฯ จะร่วมลงทุนกับ ADVANTIS FREIGHT (PVT) LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทระดับภูมิภาค จัดตั้งบริษัทใหม่ ด้วยทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท โดย LEO ลงทุน 26.95 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 49% ส่วน ADVANTIS FREIGHT ถือหุ้น 51% คิดเป็นเงินลงทุน 28.05 ล้านบาท เพื่อขยายโอกาสในธุรกิจ Logistics & Distribution Center
ส่วนแผนลงทุนธุรกิจ Cold Chain Logistics Center บริษัทฯ จะร่วมลงทุนกับ บมจ. สหไทย เทอร์มินอล (PORT) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยทั้ง 2 บริษัทฯ ถือหุ้นคนละครึ่ง คิดเป็นเงินลงทุนฝ่ายละ 50 ล้านบาท เพื่อเป็นการพัฒนาและต่อยอดในการขยายธุรกิจ Cold Chain Warehouse และ Integrated Logistics Services ของบริษัทฯ
ขณะที่แผนลงทุนธุรกิจ Self Storage และ Warehouse & Integrated Logistics Services) บริษัทฯ จะร่วมลงทุนกับ บริษัท เอสเค แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ (SK Asset Management) ในเครือ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยทั้ง 2 บริษัทฯ ถือหุ้นคนละครึ่ง คิดเป็นเงินลงทุนฝ่ายละ 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ Self-Storage แห่งที่ 3 เพื่อให้บริการพื้นที่ห้องเก็บของให้เช่า และพัฒนาธุรกิจคลังสินค้าและให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
โอกาสนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการยังมีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนโครงการ LEO Self Storage แห่งที่ 4 เพื่อให้บริการพื้นที่ห้องเก็บของให้เช่า คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 174.49 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าทรัพย์สินตลอดอายุสัญญารวม 116.04 ล้านบาท และงบลงทุนในการพัฒนาโครงการอีก 58.44 ล้านบาท เพื่อเป็นการพัฒนาและต่อยอดในการขยายธุรกิจ Self-Storage ของบริษัทฯ
สำหรับแผนลงทุนธุรกิจ Buying & Sourcing Agent จะดำเนินการผ่านบริษัทใหม่ที่มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพราะเล็งเห็นว่า รายได้และกำไรจากธุรกิจในลักษณะของการเป็นตัวแทนจัดหาสินค้าเพื่อส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนธุรกิจ E-commerce Platform ของพันธมิตรอย่าง China Post และ Yunnan Tengjun ได้ควบคู่กันไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปรับเป้ารายได้ท้ั้งปีนี้เพิ่มเป็น 45-50% หรือมากกว่า 5,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประว้ติการณ์ เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการที่ไตรมาส 3 และ 4 เป็นช่วงฤดูการส่งออกของลูกค้าในเทศกาลสำคัญปลายปี ประกอบกับปีนี้ธุรกิจได้ประโยชน์จากค่าระวางที่ยืนในระดับสูง และความต้องการขนส่งที่เติบโตรับการเปิดประเทศเกือบทั่วโลก
ที่สำคัญ ผู้บริหาร LEO แย้มด้วยว่า การขยายการลงทุนในธุรกิจไม่ใช่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Non-Freight) จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันการเติบโตของรายได้ในปีหน้า เพื่อชดเชยค่าระวางที่เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้ โดยคาดว่า อาจเห็นการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 1-2 ธุรกิจ
"LEO เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอยู่เสมอ โดยเฉพาะธุรกิจ Non-Freight อย่างธุรกิจ Logistics & Distribution Center, Warehouse และ Self Storage ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนให้บริษัทฯ ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร สอดคล้องกับสถานการณ์การการค้าและระบบโลจิสติกส์ของโลกปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขยายธุรกิจ Non-Freight ร่วมกับพันธมิตรครั้งนี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างก้าวกระโดด และยั่งยืน ส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นตามมาในที่สุด" นายเกตติวิทย์ ทิ้งท้าย
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เสียงส่วนใหญ่มีมุมมองบวกต่อการเติบโตของรายได้และกำไรปีนี้ แต่มีการตั้งข้อสังเกตจากฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ว่า เริ่มมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นต่อการปรับลงของค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะเส้นทางหลัก ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป ที่ปรับลงเร็วกว่าที่คาดไว้ เพราะค่าระวางล่าสุดสูงกว่าช่วงก่อนโควิดเพียง 1 เท่าตัว จากก่อนหน้าที่สูงถึง 4–6 เท่าตัว ทำให้เป้าหมายรายได้ที่ผู้บริหาร LEO ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ค่อนข้างท้าทายพอควร และต้องติดตามต่อไปว่า แผนขยายธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลบวกมากพอที่จะชดเชยการอ่อนตัวลงของค่าระวางเรือได้ทั้งหมดหรือไม่ แต่ยังคงราคาเหมาะสมปีหน้าที่ 15 ตามเดิม ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยตาม IAA Concencus ด้วย