2078 จำนวนผู้เข้าชม |
ในที่สุด บทสรุปการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) มีความชัดเจนแล้วว่า มีการปรับลดจำนวนหุ้นเพิ่มทุนลงจากแผนเดิม ที่กำหนดไว้ 239.2 ล้านหุ้น เหลือ 192.3 ล้านหุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 9.43% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ) แบ่งเป็นจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นคร้ังนี้ ในสัดส่วน 11.7681 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่ จำนวน 173.31 ล้านหุ้น และเสนอขายประชาชนทั่วไป 18.99 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 9-16 กันยายนนี้ และอาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกไม่เกิน 28.8 ล้านหุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด) เสนอขายนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายนนี้
สำหรับราคาเสนอขายในเบื้องต้น ก่อนผลสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book built) แล้วเสร็จ กำหนดช่วงราคาไว้ที่หุ้นละ 52–54 บาท ก่อนจะประกาศราคาเสนอขายครั้งสุดท้าย (Final Price) ที่ 53.50 บาท โดยหุ้นเพิ่มทุนพร้อมจะเข้าซื้อขายในวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุน เพื่อระดมทุนมาใช้ชำระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical TBK (CAP) ผู้นำผลิตปิโตรเคมีแถวหน้าของอินโดนีเซีย ประมาณ 1.07 หมื่นล้านบาท ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเพื่อลงทุนและขยายธุรกิจในอนาคต และหลังจากการเพิ่มทุนแล้วเสร็จ บริษัทฯ พร้อมจ่ายปันผลงวดระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.25 บาท คิดเป็นผลตอบแทนราว 2.1-2.2% เพื่อคืนกำไรบางส่วนคืนกลับผู้ถือหุ้นเดิม
ความชัดเจนเรื่องการเพิ่มทุน รวมถึงการให้ความชัดเจนเรื่องเงินปันผลครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น TOP เพราะผลกระทบต่อราคาหุ้น (Dilutuion effect) ลดลง ช่วยจำกัด downsize ของราคาหุ้นในโค้งสุดท้ายปีนี้ ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบเข้ากับแนวโน้มธุรกิจที่สดใสขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ มีมุมมองเชิงบวกต่อ TOP
โนมูระ พัฒนสิน (CNS) บอกว่า การลดจำนวนหุ้นเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นมี upside เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม โดยหากอิงข้อมูลการเพิ่มทุนล่าสุด 192.3 ล้านหุ้น ที่ราคา 52 บาท เบื้องต้น ประเมินราคาเป้าหมายปีหน้าจะมี upside ราว 1.60 บาท หรือ 1.9% ขณะเดียวกัน TOP มีโอกาสระดมทุนได้ตามเป้า จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งอัตรากำไรในธุรกิจโรงกลั่นกลับมาเหนือระดับก่อนเกิดโควิด ธุรกิจปิโตรเคมีกำลังจะเข้าสู่วงจรฟื้นตัวในระยะยาว และแผน upgrade โรงกลั่นที่จะเดินเครื่องในปี 2568 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรเหนือกลุ่มในระยะยาว กรอบราคาเพิ่มทุนมี discount จากราคาตลาด ราว 9-12% จึงยกให้เป็นหุ้น Top pick ในกลุ่มโรงกลั่นของค่ายนี้ โดยมีราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 85 บาท
ส่วนธนชาต (TNS) ปรับเพิ่มคำแนะนำในการลงทุน เป็น "ซื้อ" จากพัฒนาการเชิงบวก 3 ประการ ค่าการกลั่นที่มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะยาว ความเสี่ยงด้านการอุดหนุนที่ลดลง และ Dilution จากการเพิ่มทุนที่ลดลงจากเดิม ทำให้ปรับเพิ่มกำไรปกติ 3 ปีนี้ (2565-68) ขึ้น 91%, 25% และ 67% ตามลำดับ หนุนให้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายปีหน้าขึ้นเป็น 70 บาท พร้อมยกให้เป็นหุ้น เป็น laggard play เพราะราคาหุ้นปัจจุบัน มี valuation ต่ำกว่าคู่แข่งในภูมิภาคราว 20% อิงจาก P/BV ปีหน้า
ขณะที่กสิกรไทย (KS) ปรับราคาเป้าหมายกลางปีหน้าขึ้นจาก 65.50 บาท เป็น 67.70 บาท อิงสมมติฐาน P/BV ที่ 0.98 เท่า หรือเทียบเท่า -0.75 S.D. เหมือนก่อนหน้านี้ จาก Dilution effect ที่ลดลงจาก 13% เป็น 10% และยังมั่นใจแนวโน้มธุรกิจของ TOP จากวัฏจักรอุตสาหกรรมการกลั่นที่คาดว่าจะแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ดีจากโครงการ CFP และราคาหุ้นปัจจุบันที่ไม่แพง โดยซื้อขายตาม P/BV ปีหน้า บริเวณ 0.78 เท่า เทียบกับ 0.92 เท่า ของคู่แข่งในประเทศ พร้อมคงคำแนะนำ "ซื้อ”
อย่างไรก็ตาม การจับจังหวะซื้อ จะต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมัน ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย