1881 จำนวนผู้เข้าชม |
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท (JMART) ชี้แจงว่า เพื่อพัฒนา Ecosystem ภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก คือ ค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี ให้เติบโตได้ในลักษณะ Exponential Growth ทำให้บริษัทฯ วางยุทธศาสตร์ด้วยการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งทาง บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เป็นมากกว่าโรงงานน้ำตาล เพราะประสบความสำเร็จจากการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) ใน สปป. ลาว ซึ่งพลังงานชีวมวลมีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่ถ่านหิน และผลิตภัณฑ์ด้านรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่ปัจจุบันผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าจากยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนในสัดส่วน 6.3% ด้วยการซื้อแบบ Big lot ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ จากผู้ถือหุ้นเดิมของ BRR
ซึ่งการเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ สามารถสร้าง Synergy ร่วมกันได้ทันที ผ่าน 2 บริษัทย่อยของ บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) คือ บมจ. เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันภายใต้ชื่อ รถทำเงิน และบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล (KBJ) ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกของ BRR พร้อมกับช่วยหารายได้เสริมผ่านการเป็นเฟรนไชส์ ให้กับชาวไร่อ้อย และชุมชน ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ JMART สามารถทำกำไรเติบโตต่อเนื่อง 3 ปี ในระดับ 50% ตามแผนงานที่วางเอาไว้
ขณะที่นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR ชี้แจงว่า บริษัทฯ และ JMART เป็นพันธมิตรที่รู้จักกันมานาน การได้ JMART เข้าร่วมเป็นพันธมิตร จะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรที่มีมากกว่า 20,000 ครอบครัว และกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกรวมกว่า 2,500 คัน มีรายได้เสริมจากแฟรนไชส์ชองกลุ่ม SINGER และยังมีช่องทางเข้าถึงสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจะได้ประโยชน์จากการดึงเอาจุดแข็งของ JMART ในการมีเครือข่ายตัวแทนขาย และสาขาย่อยที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศ เติมเต็มให้ BRR สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างแข็งแรงยิ่งขึ้น ทั้งการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปทั่วประเทศ และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจร่วมกันในอนาคต พร้อมกับก้าวสู่กลุ่มบริษัทด้านพลังงานทดแทนระดับภูมิภาค ซึ่งเป็น New S-Curve ของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ทั้งนี้ BRR เป็นบริษัทลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่
1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยมีบริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด เป็นบริษัทแกน
2) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด, บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด
3) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ โดยบริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด
4) ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ จากชานอ้อย และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่น โดย บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด
5) ธุรกิจการบริหารจัดการโลจิสติกส์และบริการขนส่ง โดยบริษัท บีอาร์อาร์ โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด
6) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Pellet) โดยบริษัท บุรีรัมย์กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน สปป.ลาว
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์จากบัวหลวง (BLS) มองว่า BRR มี Hidden Asset ซ่อนอยู่มาก ทั้งสินทรัพย์ที่ดิน ชื่อเสียง สิทธิสัมปทาน และเครือข่ายชาวไร่กว่า 2 หมื่นครัวเรือนที่ดูแลอยู่ อีกทั้ง BRR มีธุรกิจ New S-curve ที่เด่นๆ คือ ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ จากชานอ้อย และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่น และพื้นที่ปลูกป่าใน สปป. ลาว เพื่อทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง (Wood pellet)
สำหนับแนวทางสร้าง synergy ในระยะแรก กลุ่ม JMART จะส่ง SCG เข้าไปขยายตัวแทนจำหน่ายผ่านกลุ่มชาวไร่กว่า 2 หมื่นครัวเรือนให้มีรายได้เพิ่ม ต่อมาทาง KBJ จะเข้าไปดูแลเรื่องการเงินบุคคล นอกจากนี้ JMART จะเข้าไปช่วยชาวไร่ของ BRR ทำ “Smart Farmer” ใช้เทคโนโลยีเข้าไปจับการทำเกษตรมากขึ้น และหวังปั้นเป็น “บุรีรัมย์โมเดล” ขยายไปที่อื่นๆ โดยทาง JMART พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในระยะต่อไป เพราะวางงบลงทุนไว้ทั้งหมดราว 500 ล้านบาท ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 248 ล้านบาท
การร่วมเป็นพันธมิตรกันทั้งนี้ คาดว่า ราคาหุ้นทั้ง JMART SINGER และ BRR จะตอบรับเชิงบวกจากความชัดเจนของแนวทางความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มฯ ที่เป็นการสร้าง Synergy ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันเห็นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในเบื้องต้น BLS มีการทำบทวิเคราะห์เฉพาะ JMART โดยไม่นับรวมประเด็นใหม่ การเจรจากับพันธมิตรใหม่อีกรายในกลุ่ม Technology นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงคงคำแนะนำซื้อ JMART ที่ราคาเป้าหมาย 65 บาท
สำหรับ SINGER นักวิเคราะห์หลายค่าย อาทิ กสิกรไทย (KS) ดาโอ (DAOL) เมย์แบงก์ (MST) มองเป็นบวกเล็กน้อยต่อความร่วมมือครั้งนี้ จากโอกาสในการเพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายสินค้า และโอกาสปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบรรทุกเพิ่มขึ้น คาดประมาณ 1.4 พันล้านบาท (อิงจำนวนรถบรรทุกที่ 2.5 พันคัน, มูลค่าสินเชื่อต่อคันที่ 8 แสนบาท เทียบเคียงมูลค่าสินเชื่อเฉลี่ยรถบรรทุกของ MICRO และอัตรา approval rate ที่ 70%) หนุนให้สินเชื่อของบริษัทฯ สามารถขยายตัวได้ตามแผนปีนี้ที่คาดไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสินเชื่อใหม่ไตรมาสละ 1.2-1.3 พันล้านบาท แต่เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดมากพอ เสียงส่วนใหญ่จึงคงยืนราคาเป้าหมายปีนี้ ที่ 58 บาท