1651 จำนวนผู้เข้าชม |
นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่่วไป (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 50 สตางค์ ที่ราคาหุ้นละ 2.00 บาท ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคมนี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 19 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขาย IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio หรือ P/E) ซึ่งคำนวณจากผลดำเนินงานของบริษัทฯ ย้อนหลังในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนปีที่แล้ว ถึงวันที่ 31 มีนาคมปีนี้ คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 21 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกัน 4 ราย อย่าง ACE, CV, ETC และ TPCH ซึ่งอยู่ที่ระดับ 28.2 เท่า อิงข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ปีที่แล้วถึงวันที่ 25 กรกฎาคมปีนี้
สำหรับจุดเด่นของ TGE อยู่ที่รายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคง มีอัตรากำไรที่แข็งแกร่ง มี EBITDA Margin เฉลี่ยราว 47% สูงกว่าผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน เพราะมีวัตถุดิบที่เพียงพอและมั่นคง ช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งมีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการรุกสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ ที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น หรือการเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ ปลายปีนี้ อีก 4 โครงการ
ด้าน ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวเสริมถึงจุดเด่นเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากความมั่นคงด้านวัตถุดิบจากทำเลที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ในแหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศ ช่วยสร้างความได้เปรียบในการจัดหาวัตถุดิบชีวมวลแล้ว การเป็นบริษัทในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ยังช่วยให้สามารถนำเอาผลพลอยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าได้ด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ โดยโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะใช้เทคโนโลยีเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยก ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ออกแบบให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูงมาก และการเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100%
ที่สำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน บริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2575 จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ ผ่านการหาโอกาสขยายธุรกิจ และหาพันธมิตรทางธุรกิจช่วยต่อยอดการเติบโตในอนาคต
ส่วนนายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหาร TGE บอกว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งหมด 51.7 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW โดยมีสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 20.3 MW ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) ตลอดอายุสัญญา และมีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาแบบ Non Firm อีก 7.0 MW
ขณะเดียวกัน ยังมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW จากโรงไฟฟ้า TES SKW ที่สระแก้ว โรงไฟฟ้า TES RBR ที่ราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN ที่ชุมพร คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ภายในปี 2567 ซึ่งการเดินหน้าโครงการเหล่านี้จะใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งจากการระดมทุนครั้งนี้ หลังจากที่จัดสรรเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และกันไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแล้ว
สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง (2562-2564) บริษัทฯ มีรายได้รวม 347.5 ล้านบาท 713.5 ล้านบาท และ 807.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นเติบโตเฉลี่ย (CAGR) สูงถึง 52.4% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การควบคุมบริหารจัดการต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผลดำเนินงานไตรมาสแรก TGE มีรายได้รวม 233.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิที่ 51.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% YoY จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หนุนโดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP ที่สุราษฎร์ธานี และการมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำและไอน้ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิที่ 23.3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกปีก่อนที่ทำได้ 27.4% เพราะได้รับผลกระทบจากการปิดระบบสายส่งเป็นครั้งคราวจากการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวง ทำให้ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ