1424 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ประกาศผลดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ สรุปได้ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกและไตรมาส 2 อยู่ที่ 3,641 ล้านบาท และ 1,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% และ 12.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ตามลำดับ (หากพิจารณางบการเงินเฉพาะกิจการ กำไรสุทธิครึ่งปีแรกและไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 3,621 ล้านบาท และ 1,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% และ 11.7% YoY ตามลำดับ) จากฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี ด้วยยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 95,069 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตบัตรเครดิต 2.52 ล้านบัตร (ยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ 61,426 ล้านบาท) พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 0.75 ล้านบัญชี (ยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับรวม 30,460 ล้านบาท) และพอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 3,184 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม” และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) ยอดรวม 525 ล้านบาท โดยมียอดลูกหนี้เพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 2 เท่ากับ 5,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% YoY จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้รวมครึ่งปีแรก อยู่ที่ 11,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% สำหรับหนี้สูญได้รับคืนในไตรมาส 2 อยู่ที่ 851 ล้านบาท และครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,708 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวม ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 3,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และต้นทุนทางการเงินลดลง หนุนให้ค่าใช้จ่ายรวมครึ่งแรกปีนี้ลดลง 1.1% มาอยู่ที่ 6,539 ล้านบาท
ส่วนสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPLs) รวมอยู๋ที่ 3.5% แบ่งเป็น NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% สินเชื่อบุคคลที่ 2.8%
โอกาสนี้ นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลังด้วยว่า พร้อมเดินหน้าธุรกิจตามแผนงานที่ตั้งเป้าหมายในด้านต่างๆ อย่างระมัดระวังต่อไป โดยด้านรายได้ บริษัทฯ ยังคงเน้นการจัดหาสมาชิก และเพิ่มมูลค่าพอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมการตลาดที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และบริบทที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ อาจเห็นการเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวได้ถึง 15% สูงกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ที่ 10% เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกขยายตัวถึง 16.6% คิดเป็นวงเงินราว 109,782 ล้านบาท สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่มีมูลค่า 100,282 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมโตประมาณ 18.5%
“เคทีซีจะยังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ทำให้การตัดหนี้สูญน้อยลง และบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายให้เกิดความสมดุล แต่เพื่อความไม่ประมาท บริษัทฯ จะมีการตั้งสำรองเพิ่มตามพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเป้าหมายเดิม ด้วยประมาณการเป้าหมายกำไรที่สูงกว่าเดิม และพอร์ตสินเชื่อรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC สรุปประเด็น
ทั้งนี้ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 55,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 34% และระยะยาว 66% มีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 2.4% และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 26,249 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ที่ 2.2 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
สำหรับแนวทางให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกสถานะตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.39% ของพอร์ตลูกหนี้รวม