1226 จำนวนผู้เข้าชม |
นักลงทุน VI ระยะยาวมาก เป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น เวลาจะลงทุนควรเลือกตลาดหุ้นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกัน และตลาดหุ้นที่จะมีลักษณะอย่างนั้นได้ ก็ควรจะอยู่ในประเทศหรือเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเร็ว และจะเติบโตต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 10 ปีเช่นเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจที่โตเร็วและมีขนาดใหญ่พอ จะทำให้มูลค่าตลาด หรือดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเติบโตถึงจุดหนึ่งแล้ว มันก็มักจะเติบโตช้าลงและอาจจะหยุดโตเลย อย่างไรก็ตาม บางประเทศนั้นเนื่องจากโตเร็วมาก เมื่อโตถึงจุดหนึ่งคนก็ร่ำรวยและประเทศกลายเป็นประเทศ "พัฒนาแล้ว” แต่บางประเทศก็อาจโตไม่เร็วพอ จึงเป็นได้แค่ "คนชั้นกลางค่อนข้างดี” แต่ประเทศโตช้าหรือหยุดโตแล้ว ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าเป็น "Middle Income Trap” หรือประเทศที่ติด "กับดักรายได้ชั้นกลาง"
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระยะเวลาของการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นว่ามันจะโตแค่ไหนและยาวแค่ไหน?
มาศึกษาประวัติศาสตร์ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศที่โตเร็วหรือเคยโตเร็วกัน 3 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ไทย และเวียตนาม ซึ่งผมพบว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ และดูเหมือนว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เช่นเกาหลี หรือไต้หวัน ก็มีพฤติกรรมใกล้เคียงกัน มันคงมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อยู่แต่ผมศึกษาไม่ไหว
การเติบโตของตลาดหุ้น ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ดูเหมือนว่าจะโตเร็วต่อเนื่องจากวันที่ "เริ่มการพัฒนา” ไปยาวนานถึงประมาณ 40 ปี โดยที่ 20 ปีแรกจะเป็นช่วงโตเร็วมากที่สุด และ 20 ปีหลังจะโตช้าลง บางทีก็ช้าลงมาก แต่บางแห่งก็ช้าลงไม่มาก ขึ้นอยู่กับศักยภาพของคนและระบบการปกครองของประเทศ หลังจาก 40 ปีไปแล้ว เศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็จะโตช้าลงมาก และบางแห่งก็แทบจะหยุดโตต่อเนื่องไปนาน ประเทศอาจจะกลายเป็น "สังคมคนแก่” ที่ไม่สามารถกลับมาเติบโตได้อีก
ญี่ปุ่นเริ่มต้นการพัฒนาและเริ่มมีตลาดหุ้นในปี 1949 หรือ 4 ปีหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเริ่มต้นพัฒนาประเทศใหม่ ภายในเวลาประมาณ 22 ปี คือปี 1971 ดัชนีตลาดหุ้นก็เพิ่มจาก 100 จุด เป็นประมาณ 2,700 จุด หรือให้ผลตอบแทนปีละ 16.2% แบบทบต้น ถ้ารวมปันผลก็จะประมาณ 18% และถือว่า "ดีสุดยอด” นักลงทุนระยะยาวคงรวยกันทั่วหน้า ช่วง 18 ปีต่อมา ดัชนียังเติบโตขึ้นไปถึงประมาณ 37,000 จุด ในปี 1989 ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 15.7% หรือน้อยกว่าช่วง 20 ปีแรกแค่ 0.5% รวมแล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นปีละ 15.9% หรือรวมปันผลคงจะประมาณ 17-18% เป็นเวลาถึง 40 ปี
ญี่ปุ่นในวันนั้นดูเหมือนจะเป็นประเทศ "สุดยอดของโลก” ที่อเมริกา "ตกใจมาก” คล้ายๆ กับที่ตกใจกับจีนในตอนนี้
หลังจากปีนั้นเป็นเวลาต่อมาอีก 32 ปี ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 26,847 จุด เมื่อเร็วๆ นี้ หรือเป็นการลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 1% แบบทบต้นทุกปี คนลงทุนไม่ได้อะไรเลย ปันผลน้อยนิดที่ได้ก็ไม่คุ้มกับราคาหุ้นที่ลดลง นี่เป็นเพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแทบจะไม่โตเลยมาน่าจะหลายสิบปี เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมแทบทุกด้านที่ถดถอยลงเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าจะฟื้นได้อย่างไร สาเหตุคงเป็นเพราะคนแก่ตัวลงมาก และน่าจะแก่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ไทยเริ่มมีตลาดหุ้นในปี 2518 และกำลังเริ่มต้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละประมาณ 7% โดยบางปีโตกว่า 10% ภายในเวลา 22 ปี ถึงสิ้นปี 2539 ดัชนีตลาดหุ้นจาก 100 จุด กลายเป็นประมาณ 832 จุด หรือโตแบบทบต้นปีละประมาณ 10.11% ถ้ารวมปันผลก็น่าจะไม่น้อยกว่า 12% ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ "ยอดเยี่ยม" ระดับโลกประเทศหนึ่ง แต่หลังจากนั้น ประเทศก็เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศอาจไม่ได้แข็งแกร่ง หรือมีศักยภาพสูงมาก อย่างที่เคยคิดว่าจะเป็น "เสือตัวที่ 5” ของเอเชีย
ช่วงเวลาระหว่างสิ้นปี 2539 จนถึงสิ้นปี 2557 เป็นเวลา 18 ปีนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ แต่ก็โตช้าลงกว่าเดิมมาก การเติบโตน่าจะอยู่ในระดับ 5% และค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 3% ต่อปี พร้อมๆ กับปัญหามากมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ น้ำท่วมใหญ่ ปัญหาทางการเมืองที่เกิดการขัดแย้งกันระหว่างคนในประเทศ และการเกิดรัฐประหารหลายครั้ง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นโตช้าลงมาก จาก 839 จุด เพิ่มขึ้นเป็นเพียง 1,498 จุด หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 2.82% ต่อปี ในช่วงเวลาถึง 18 ปี
รวมแล้ว ในเวลา 40 ปีนับจากวันเปิดตลาด ผลตอบแทนทบต้นเท่ากับ 7% ต่อปี ถ้ารวมปันผลก็ประมาณ 9-10% ถือว่าไม่เลวเลย
หลังจากสิ้นปี 2557 ถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว เศรษฐกิจถดถอยลงมาก โตไม่ถึงปีละ 3% อานิสงค์จากการที่คนไทยแก่ตัวลงมาก และผลจากโควิด-19 ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยกว่าจุด ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 1.5% และดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังติดกับดักชนชั้นกลางอยู่ด้วย
สำหรับเวียตนาม เพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปิดตลาดหุ้นในปี 2000 หรือ 22 ปีมาแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 100 จุด เป็น 1,367 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 12.62% รวมปันผลน่าจะไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี เหนือกว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันมาก และถ้ามองต่อไปอีก 18 ปีข้างหน้า ดูเหมือนว่าเวียตนามจะแข็งแกร่งขึ้นไปอีก อานิสงค์จากปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ รวมถึงศักยภาพของคนที่ยังเป็นหนุ่มสาว และมีคุณภาพสูง ดังนั้น ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามน่าจะเติบโตขึ้นไปอีกมากอย่างมั่นคงและให้ผลตอบแทนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10% แบบทบต้น