ภาษีการขายหุ้น – มุมมองจากคนตลาดทุน

469 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาษีการขายหุ้น – มุมมองจากคนตลาดทุน

 
แผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.10% ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในรายละเอียด กำลังเป็นประเด็นร้อนในตลาดทุน เหตุผลของภาครัฐคือต้องการขยายฐานภาษี และสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี ในขณะที่ฝั่งผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุน กลับมองว่าเป็นการทำลายหนึ่งในเสาหลักสำคัญของภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจ และสุดท้ายประเทศอาจได้ไม่คุ้มเสีย
 
ผมเข้าใจดีถึงความจำเป็นของภาครัฐในการเพิ่มรายได้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็พุ่งขึ้นเกือบแตะเพดานเดิมที่ 60% จนกระทรวงการคลังต้องขยายเพดานเป็น 70%  
 
แต่การเก็บภาษีขายหุ้นไม่น่าจะใช่คำตอบ
 
มิติหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง คือบทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแหล่งระดมทุนหลักของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปฎิบัติภารกิจนี้อย่างดีเยี่ยม เห็นได้จากมูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก และตลาดรองสูงถึง 2.77 ล้านล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในสามปีล่าสุด ประเทศไทยยังรั้งตำแหน่งผู้นำของอาเซียนในการระดมทุน IPO ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจ และนำไปสู่รายได้ภาษีของรัฐที่สูงขึ้น  
 
หลายคนอาจสงสัยว่าการเก็บภาษีขายหุ้นจะกระทบกับการระดมทุนอย่างไร
 
หัวใจสำคัญของตลาดการเงินและการระดมทุน คือ สภาพคล่อง คนที่ทำธุรกิจจะทราบดีว่าเวลาสภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัว การกู้เงินจะยากลำบากมาก และมักต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าในช่วงปกติ ตลาดทุนก็เช่นเดียวกัน ในภาวะที่สภาพคล่องหดตัว การระดมทุนจะทำได้ยากขึ้นมาก หุ้นใหม่ที่ออกมักถูกกดราคา ความสนใจของนักลงทุนก็ลดลงตาม
 
แล้วทำไมสภาพคล่องในตลาดทุนถึงมีแนวโน้มหดตัวถ้ามีการเก็บภาษีขายหุ้น
 
เหุตผลหลักเป็นเพราะต้นทุนการซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบันที่ 0.16% (ค่าธรรมเนียมซื้อ + ขาย) จะเพิ่มขึ้นถึง 62% เป็น 0.26% (+ ภาษีขายหุ้น) ซึ่งย่อมส่งผลให้ธุรกรรมลดลง
 
นักลงทุนกลุ่มที่คาดว่าจะชะลอการซื้อขายมากที่สุด คือ สถาบันต่างประเทศ ที่ในปัจจุบันมีต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.06% (ค่าธรรมเนียมซื้อ + ขาย) การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 167% นักลงทุนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภท Program Trading (PT) ที่มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนต่อรายการเทรดที่ไม่สูง แต่เน้นลงทุนในปริมาณที่มากและถี่ การมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าอาจทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า
 
ธุรกรรมจากนักลงทุน PT คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้านักลงทุนกลุ่มนี้ย้ายไปเทรดในตลาดหุ้นอื่น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่อง บางคนอาจมองว่าการเสียนักลงทุนกลุ่มนี้ไปไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะเป็นนักลงทุนคุณภาพต่ำที่เข้ามาเพื่อแสวงหากำไรระยะสั้นๆ  แต่ในมุมกลับกัน PT คือกลุ่มหลักที่สร้างสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และช่วยให้เรามีจุดขายเรื่องสภาพคล่องที่สูงสุดในอาเซียนหลายปีติดต่อกัน  
 
นักลงทุนอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักคือ สถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ผู้สร้างสภาพคล่อง (Market Maker) ให้กับตราสารทุนประเภทใหม่ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการส่งเสริม เช่น ETF และ DR รวมถึงการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง เพื่อรองรับการออกตราสารอนุพันธ์ ภาระภาษี FTT จะเป็นอุปสรรคในการดำเนินภารกิจเหล่านี้ให้คุ้มทุน ซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของตลาดทุนไทยในอนาคต
 
จากการประเมินเบื้องต้น มูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสลดลงถึง 40%
 
นอกจากความเสียหายทางตรงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผลกระทบทางอ้อมก็มีมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการค้นพบราคาของหุ้นแต่ละตัว (Price Discovery) อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม กองทุนระยะยาวระดับโลกอาจให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยน้อยลงกว่าเดิม ทิศทางการเข้าสู่ตลาดหุ้นของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจสะดุดลง แผนการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีให้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจทำได้ยากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งตลาดหุ้นกระดานที่สามเพื่อรองรับการระดมทุนของ SME ก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เป็นต้น  
 
บางคนพยายามชี้ว่าภาษี FTT ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ก็มีการจัดเก็บภาษีนี้ แต่ผมมองว่าถ้าเราจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เราควรเลือกเทียบกับสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศคู่แข่งด้านตลาดทุนโดยตรงของเรา หลายท่านคงทราบดีว่านักลงทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ไม่เสียแม้กระทั่งภาษีเงินปันผล ในขณะที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องเสียภาษีเงินปันผลในอัตรา 10% และต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้นในอัตรา 20% ถ้าเป็นนิติบุคคล การเก็บภาษี FTT จะยิ่งซ้ำเติมให้เราแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ลำบากขึ้น  
 
ประเด็นสำคัญที่สุดที่หลายคนมองข้ามคือ กลไกของตลาดทุนมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐ เห็นได้จากผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่เข้าจดทะเบี ยนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเข้าตลาด และในแต่ละปี 30% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลจัดเก็บได้ มาจากเพียง 800 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เทียบกับนิติบุคคลทั้งประเทศกว่า 1.6 ล้านบริษัท
 
ผมหวังว่า ภาครัฐจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไป เมื่อได้พิจารณาผลกระทบทุกมิติอย่างรอบคอบ ตลาดทุนไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่สำคัญในการขยายบทบาทให้ครอบคลุมถึงการระดมทุนของกิจการ S-curve ประเภทใหม่ๆ ที่ภาครัฐต้องการส่งเสริม กิจการ SME และกิจการเทคโนโลยี Startup คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าเราต้องถอยหลังไปตั้งหลักกันใหม่


ไพบูลย์ นลินทรางกูร
18 มกราคม 2565

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้