AWC ลงทุนเพิ่ม portfolio ต่อเนื่อง รองรับการเป็น landmark ด้านการท่องเที่ยว ในทำเลยุทธศาสตร์

353 จำนวนผู้เข้าชม  | 

AWC ลงทุนเพิ่ม portfolio ต่อเนื่อง รองรับการเป็น landmark ด้านการท่องเที่ยว ในทำเลยุทธศาสตร์

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เปิดเผยว่า บริษัท ทรัพย์ ทีซีซี โฮเทล เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามเข้าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก บริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ติดกับ "เชียงใหม่ ไนท์บาซาร์" แหล่งช้อปปิ้ง และศูนย์รวมร้านอาหาร ร้านค้าชื่อดังใจกลางเมือง ทั้งยังอยู่ใกล้กับโรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ อีกหนึ่งโครงการคุณภาพของ AWC ด้วยงบลงทุน 435 ล้านบาท

ซึ่งความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) ครอบคลุมกลุ่มนักท่องเที่ยวได่ครบทุกเซกเมนต์ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเป็นประตูเชื่อมต่อการท่องเที่ยวจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังเมืองรองต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กองทรัสต์จะจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยเพื่อขอมติอนุมัติการขายสินทรัพย์อีกครั้ง ในวันที่ 27 มกราคมปีหน้า โดยหลังจากดำเนินการทำสัญญาซื้อขายเรียบร้อยแล้ว กลุ่มดุสิตธานีจะยังคงบริหารงานโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ บริษัทย่อยของ AWC อีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท เอดับบลิวซี บาย ริเวอร์ฟรอนท์ ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ บริษัท หวั่งหลี จำกัด เพื่อเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “ล้ง 1919” เป็นระยะเวลาประมาณ 64 ปี คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนราว 3,436 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้มีคุณค่าความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพระดับโลก พร้อมกับเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็น“The River Journey” 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เพิ่งเปิดตัวโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ ที่มีการปรับโฉมส่วนของห้องพักภายใต้แนวคิด Bankgok Art Gallery "งานศิลปะรูปแบบใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยเสน่ห์ของกรุงเทพฯ" รวมถึงเพิ่มไฮไลท์ใหม่ อย่างห้องอาหารโรลลิงริบส์ บริว บาร์ บาร์บีคิว ตามคอนเซ็ปต์บาร์บีคิวสไตล์เมมฟิส (Memphis-style) จากสหรัฐฯ พร้อมเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์จากทุกมุมโลก ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์สโมคเฮ้าส์

การลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ทำให้ทาง AWC มีอัตราการจองห้องพักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 2 เท่า ในช่วงเดือนธันวาคม โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ แบ่งเป็นสัดส่วนของชาวต่างชาติ 70% และชาวไทย 30%

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน มีทั้งที่มองบวก (pros) และมองลบ (cons) อย่างคันทรี่กรุ๊ป (CGS) ชี้ว่า AWC น่าจะยังมีผลดำเนินงานไตรมาส 4 ขาดทุนสุทธิ แต่จะน้อยกว่าในไตรมาส 3 เพราะได้แรงหนุนจากอุปสงค์สะสมจากช่วงก่อน (pent-up demand) จากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ หลังคลายล็อกดาวน์ หนุนให้อัตราการเข้าพักสำหรับโรงแรมต่างจังหวัดฟื้นขึ้นมายืนเหนือจุดคุ้มทุนในเชิง EBITDA ได้ คงคำแนะนำ “ถือ” ด้วยราคาเป้าหมาย 4.50 บาท

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพด้านกำไรของ AWC น่าจะฟื้นตัวช้ากว่าหุ้นกลุ่มโรงแรมรายอื่น แต่ประเด็นการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เร็วกว่าคาด อาจเพิ่ม upside ที่อาจนำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2564-65 ได้

เช่นเดียวกับทิสโก้ (TSC) ที่แนะนำ “ถือ” โดยให้เหตุผลว่า แม้การขยายตัวของ AWC จะเป็นเชิงรุกมากกว่าบริษัทอื่น แต่โครงการใหม่ๆ ไม่น่าจะเห็นผลในเร็วๆ นี้ และอาจเผชิญความล่าช้าจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด กดดันให้ฟื้นตัวได้ช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากในพอร์ตฟิโลโอธุรกิจงโรงแรม กว่า 90% จะอยู่ในกรุงเทพฯ  จึงคงราคาเป้าหมายเดิมที่ 3.90 บาท พร้อมแนะนำ “ถือ”

ในทางกลับกัน บัวหลวง (BLS) ชี้ว่า แม้การท่องเที่ยวไทยจะก้าวเข้าสู่เส้นทางที่สดใส หลังการเปิดประเทศ แต่ AWC ซึ่งเป็นเรือธงของการท่องเที่ยวไทย ยังปรับตัวขึ้นช้ากว่ากลุ่มอยู่มาก ด้วยราคาหุ้นที่ลดลง 20%  จากระดับในช่วงก่อนโควิด (ณ สิ้นปี 2562) เทียบกับ ERW ที่ลดลง 17% และ MINT ลดลง 5% หรือ CENTEL ที่ปรับตัวขึ้น 44% มาอยู่ในระดับก่อนช่วงโควิด จึงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเป้าหมายปีหน้า 5 บาท อิงวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) บนสมมติฐาน WACC ที่ 7% และ terminal growth ที่ 3%

ส่วนกสิกรไทย (KS) คงมุมมองบวกต่อ AWC เพราะคาดว่าผลดำเนินงานมีแนวโน้มจะฟื้นตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 4 หนุนจากทั้งนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทฯ มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จากแบรนด์ที่แข็งแกร่งของพันธมิตรระดับโลกหลายรายช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้าพักในโรงแรมที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ดี จึงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 6.55 บาท อิงวิธี SOTP (Sum-of-the-part) ที่ 5 บาท (บนสมมติฐาน WACC ที่ 6.9% และ terminal growth ที่ 3%)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้