1452 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย (DELTA) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาสแรกปี 2568 มีกำไรสุทธิ 5,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสแรกปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 155% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ดีกว่าตลาดคาด หนุนจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง โดยเฉพาะกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งเพาเวอร์ซิสเต็มสำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ และผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์ ซึ่งแพร่หลายมากขึ้น ช่วยชดเชยยอดขายที่อ่อนแอในกลุ่มโซลูชั่นสําหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ทั้งหมด ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มจาก 21% ในไตรมาสแรกปีก่อน และ 22.5% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ 25.6% ช่วยให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 12% YoY และ 2% QoQ มาอยู่ที่ 4.27 หมื่นล้านบาท ประกอบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อรายได้ลดลงเหลือ 4.4% เทียบกับ 8.3% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน (QoQ) และ 4.7% ในไตรมาสแรกปีก่อน (YoY) ซึ่งผู้บริหารอธิบายว่าสินค้า AI ที่ขายดี เป็นการพัฒนาโดยเดลต้า ประเทศไทย จึงไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับไต้หวัน
โอกาสนี้ ผู้บริหารได้ฉายภาพธุรกิจในไตรมาส 2 ด้วยว่า ยังคงได้รับคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการเติบโตอาจไม่สูงมาก เนื่องจากปัจจุบันเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตแล้ว ส่วนกำลังการผลิตเพิ่มเติมน่าจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาส 3 ขณะที่กลุ่มโซลูชั่นสําหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตัวเลขน่าจะลดลงอีก เนื่องจากคำสั่งซื้อยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม กลุ่มพัดลมและระบบจัดการความร้อน กลุ่มผลิตภัณฑ์พลังงานโทรคมนาคม มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้รายได้ทั้งปี น่าจะเติบโตจากปีก่อนราว 10-15%
ขณะเดียวกัน การที่ DELTA มีฐานการผลิตครอบคลุมทั่วโลก โดยเดลต้า ไต้หวัน มีโรงงานผลิตที่อเมริกาด้วยเช่นกัน การเลือกให้โรงงานไหนผลิตจะขึ้นอยู่กับลูกค้าเป็นหลัก ทำให้ไม่น่าได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีที่อาจเกิดหลังจบช่วงปลอดภาษี 90 วัน ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการพูดคุยใกล้ชิดกับลูกค้าตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมให้ข้อมูลทันที