DELTA มั่นใจ กระแส AI หนุนธุรกิจโตเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่องหลายปี   

1520 จำนวนผู้เข้าชม  | 

DELTA มั่นใจ กระแส AI หนุนธุรกิจโตเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่องหลายปี   



บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย (DELTA) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่ลดลง 10.0% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ แต่หากตัดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 350 ล้านบาท และรายได้เงินชดเชยจากการผิดสัญญาทางการค้า 64 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท เติบโต 4.4% QoQ และเติบโต 22.7% YoY สาเหตุจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ทำได้สูงเกินคาด โดยทำได้ 27.6% เทียบกับ 26.9% ในไตรมาส 2 และ 22.6% ในไตรมาส 3 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง โดยเฉพาะกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งเพาเวอร์ซิสเต็มสำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ และผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์ ซึ่งแพร่หลายขึ้น ผลักดันให้ยอดขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 6.8% YoY และ 3.5% QoQ มาอยู่ที่ 4.32 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มพัดลมและระบบจัดการความร้อน และเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม มีการเติบโตที่ดีในไตรมาสนี้ สวนทางกลุ่มโซลูชั่นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังฟื้นตัวอย่างจำกัด และปรับตัวลดลงจากฐานสูงในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว สืบเนื่องจากความต้องการที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้ลูกค้าเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารสินค้าคงคลัง และปรับแผนการขายให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด 

สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22.4% YoY มาเป็น 1.67 หมื่นล้านบาท ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น 13.8% มาอยู่ที่ 1.23 แสนล้านบาท





โอกาสนี้ นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DELTA ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ น่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตของผลดำเนินงานเป็นเลข 2 หลัก ได้อย่างต่อเนื่อง หนุนจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยี AI ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้า แม้จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อว่าเทรนด์การขับเคลื่อนเพื่อลดคาร์บอน จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันการค้า จะทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ ในอนาคต

ส่วนแผนลงทุนปีหน้า คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสายการผลิตระบบทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าหลัก กลุ่มบริหารจัดการความร้อน และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีความต้องการสายการผลิตอัจฉริยะ รวมถึงการลงทุนก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อการผลิต ทั้งในนิคมอุสาหกรรมเวลโกรว์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเวลโกรว์ 3 และ เวลโกรว์ 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาส 3 ปีหน้า และในนิคมอุตสาหกรรมบางปู 2 อาคาร คาดแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาส 3 ปี 2569

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ทะยานตัวอย่างร้อนแรงต่อเนื่อง จนสูงเกินมูลค่าพื้นฐานที่นักวิเคราะห์จากทุกสำนักประเมินเอาไว้ เมื่ออ้างอิงจากประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้า ที่ 2.1-2.3 หมื่นล้านบาท และ 2.3-2.7 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ไม่มีค่ายไหนแนะนำให้ซื้อลงทุนแต่อย่างใด    




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้