5028 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกของ บมจ. ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย (TATG) สร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นให้กับนักลงทุนที่ได้หุ้นจอง และขายทำกำไรออกไปเร็ว เพราะหลังจากเปิดตลาดที่ 2.32 บาท สูงกว่าราคาจองที่ 1.25 บาท ถึง 1.07 บาท ให้ผลตอบแทนกว่า 85.60% และค่อยๆ ดีดตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดของวันที่ 2.44 บาท ตามแรงซื้อที่โถมเข้ามา ในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้น เริ่มเห็นแรงขายทำกำไรกระจายตัวออกมา กดให้ราคาค่อยๆ ไหลลงมาตามลำดับ แต่ก็ไม่หลุด 1.90 บาท และปิดภาคเช้าที่ 1.95 บาท ก่อนจะค่อยๆ ปรับฐานลงมาในการซื้อขายภาคบ่าย เมื่อแรงซื้อบางเบาลงไป กดราคาลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1.51 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อปลายตลาดดันราคาปิดขึ้นมาแตะ 1.54 บาท เหนือจอง 0.29 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 23.20% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 814 ล้านบาท อีกทั้งสามารถยืนระยะได้เหนือ 1.50 บาท ตลอด 2 สัปดาห์แรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)
การที่ราคาหุ้นสามารถยืนเหนือจองได้อย่างต่อเนื่อง ได้รับการอธิบายจากที่ปรึกษาทางการเงิน และแกนนำการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ค่ายเอเซีย พลัส (ASPS) ว่า เกิดจากนักลงทุนมีความมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทฯ จากศักยภาพในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตยานยนต์มาอย่างยาวนาน ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะ ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี สะท้อนจากภาพปีนี้ ที่ตลาดรถยนต์ในประเทศชะลอตัว แต่ตลาดส่งออกรถกระบะยังเติบโต หนุนให้ผลดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ สามารถพลิกจากขาดทุนในครึ่งแรกปีก่อนมาเป็นกำไร และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ เมื่อผู้ผลิตยานยนต์เริ่มมีแผนทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ หลังจากต้องเลื่อนออกมาในช่วงก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังได้วางแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
ขณะที่ ดร. พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร TATG ชี้แจงว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ราว 40 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนเครื่องจักร ครอบคลุมทั้งระบบที่ควบคุมด้วยคน และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความหลากหลายในการผลิตได้ ทั้งการผลิตในปริมาณมาก และการผลิตที่เน้นความพิถีพิถันสูง รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้สอดรับโอกาสการเติบโตไปพร้อมกับเมกกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัวในอนาคต พร้อมกับต่อยอดสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์ ในภูมิภาคเอเชีย ตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้
สำหรับเงินทุนที่เหลือ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการวิจัยและพัฒนางานด้านการออกแบบและผลิตเครื่องมือ ของกลุ่มบริษัทฯ ประมาณ 45.8 ล้านบาท อีก 30 ล้านบาท ชำระคืนหนี้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มแข็งทางการเงินให้กับกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และผลักดันรายได้ช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2568-70) เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20% หนุนจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ส่วนภาพระยะสั้น ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตแตะ 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท TATG ดำเนินธุรกิจผ่าน 4 บริษัท คือ บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย (TAT) ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบการปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Automotive Press Parts) กับ 3 บริษัทย่อย ประกอบด้วย บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ ปทุมธานี (TATP) ทำธุรกิจออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะอุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ และอุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Tooling) บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ ชลบุรี (TATC) ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบการปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Automotive Press Parts) พร้อมบริการชุบเคลือบสีชิ้นส่วนด้วยระบบไฟฟ้า EDP (Electro Deposition Paint) โดยมุ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการความพิถีพิถันสูง เช่น ฝาครอบหม้อลมเบรครถยนต์ ถาดรองน้ำมันเครื่อง ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยอื่นๆ และบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ อีสเทิร์น (TATE) ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบการปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Automotive Press Parts) มุ่งรองรับลูกค้าที่ต้องการผลิตปริมาณมาก
โดยโรงงานทุกแห่งล้วนตั้งอยู่ในแนวยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการบริหารงานแบบ Business Unit เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารทรัพยากรบุคคล การผลิต และการดูแลลูกค้า ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกมิติ ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน และส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงต่อเวลา