4893 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่กำไรสุทธิกลับลดลง 16% QoQ และ 2% YoY โดยการลดลง YoY มีผลจากราคาขายที่ปรับตัวลดลง สวนทางราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และค่าขนส่งทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่วนการลดลง QoQ มีสาเหตุจากทั้งปริมาณขายที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งจากช่วงวันหยุดเทศกาล Hari Raya และเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้โรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์กระดาษทั้งใน 2 ประเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุด มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง อีกทั้งการปรับขึ้นราคาขายยังทำได้ช้ากว่าต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น จึงกระทบต่ออัตรากำไรของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ขณะที่ธุรกิจเยื่อและกระดาษ แม้จะมีปัจจัยบวกจากราคาเยื่อกระดาษที่สูงขึ้น แต่ก็มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ที่ขอนแก่น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นประมาณ 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กลับทำกำไรสุทธิครึ่งปีแรกได้เพิ่มขึ้น 17% YoY เป็น 3,178 ล้านบาท สาเหตุจากปริมาณการขายที่สูงขึ้น รับการฟื้นตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทฯ สามารถปรับราคาขายได้ตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง หนุนให้รายได้เติบโต 3% YoY มาอยู่ที่ 6.81 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน การใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มจาก 50% เป็น 55% ช่วยให้อัตรากำไรปรับเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 5%
โอกาสนี้ บริษัทฯ พร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีแรก ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เท่าครึ่งแรกปีก่อน กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (วันขึ้นเครื่องหมาย XD) 6 สิงหาคมนี้ ก่อนจ่ายเงินตามมาในวันที่ 21 สิงหาคมนี้
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP ชี้แจงว่า แม้ความต้องการบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก หนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และการที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มผลิตเพื่อสต๊อกสินค้ารองรับการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปี ตั้งแต่ไตรมาส 3 ประกอบกับบริษัทฯ สามารถปรับราคาขายชดเชยต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นได้อีกระลอก แต่เป้ารายได้ที่ตั้งไว้ 1.5 แสนล้านบาท อาจทำได้เพียง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ในไตรมาส 3 ประกอบอีกครั้ง
และเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (M&P) ในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งคาดว่า จะเห็นความชัดเจนปีนี้ 1-2 ดีล ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้งบลงทุนรวมที่ 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากในครึ่งปีแรกใช้ไปเพียง 3.1 พันล้านบาท
ซึ่งล่าสุด SCGP ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้น 90% ในบริษัทวีอีเอ็ม ไทยแลนด์ (VEM-TH) ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนสมรรถนะสูงจากการขึ้นรูปโพลิเมอร์ เพื่อต่อยอดกลยุทธ์การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ผ่านการเพิ่มศักยภาพการผลิตของ Deltalab และ Bicappa Lab ที่ได้เข้าไปลงทุนไปช่วงก่อนหน้านี้ โดยจะเริ่มรับรูู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป
สำหรับความคืบหน้าในการซื้อหุ้นใน Fajar เพิ่มจากผู้ถือหุ้นเดิม 44.48% เป็น 99.7% คิดเป็นเงินลงทุน 23,200 ล้านบาท ตอนนี้บริษัทฯ เตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยใช้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ราว 8 พันล้านบาท ที่เหลือจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ส่วนหนึ่ง และกู้ยืมสถาบันการเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 450 ล้านบาท โดยมีแผนจะส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตในอินโดนีเซียไปช่วยสนับสนุนการดําเนินธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเดินเครื่องเต็มกําลังการผลิตแล้ว เพราะมีความต้องการบรรจุภัณฑ์จํานวนมาก ทำให้เชื่อมั่นว่า การลงทุนใน Fajar จะถึงจุดคุ้มทุนในปลายปีนี้ ก่อนจะสร้างผลประโยชน์ในระยะกลางถึงยาว จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับสูง และการหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาร่วมถือหุ้นบางส่วนใน Fajar เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต และลดภาระทางการเงิน
กระนั้น ตลาดตีความว่า การลงทุนใน Fajar จะทำให้ SCGP ต้องแบกภาระขาดทุนในปีนี้เพิ่มขึ้น หลังจากครึ่งปีแรก มีผลขาดทุนสุทธิแล้ว 1,063 ล้านบาท โดยมีความเป็นไปได้ด้วยว่า อาจเห็นจุดคุ้มทุนเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางสำนัก อย่างเคจีไอ (KGI) เมย์แบงก์ (MST) บัวหลวง (BLS) กสิกรไทย (KS) ปรับลดราคาเหมาะสมของ SCGP ลงมา 5 – 6 บาท
โดย KS และ KGI ปรับราคาจาก 38-39 บาท เหลือ 32-33 บาท ส่วน MST ปรับราคาจาก 42 บาท เหลือ 37 บาท ขณะที่บัวหลวง (BLS) ปรับราคาลงมากที่สุด จาก 58 บาท เหลือ 40 บาท แต่ยังคงแนะนำทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนระยะยาว จากศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุทางการแพทย์ รวมถึงการเป็นหุ้นเป้าหมายตัวหนึ่งตามเกณฑ์ลงทุนหุ้นกลุ่ม ESG จากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และการขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อร่วมมือกับลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การปรับฐานของราคาหุ้นวันนี้ น่าจะสะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดในครึ่งแรกปีนี้ไปมากแล้ว
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน มีไอเดียจากค่ายกรุงศรีอยุธยา (KSS) ที่คิดตรงกับ KGI ว่า ให้รอดูความชัดเจนเรื่องการฟื้นตัวของธุรกิจในอินโดนีเซีย และสถานการณ์ในตลาดจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ และเป็นตลาดที่มีภาวะการแข่งขันสูง ประกอบการตัดสินใจก่อน
แต่หากมองภาพระยะยาว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมีมุมมองบวกต่อศักยภาพการเติบโตของ SCGP ทำให้ตลาดประเมินราคาเหมาะสมใน 12 เดือนข้างหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 39 บาท