K-Private Banking แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น แต่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ ลดปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่หมด

4715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

K-Private Banking แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น แต่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ ลดปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่หมด


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การที่ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ให้ผลตอบแทนดีต่อเนื่องจากปี 2566 เห็นได้จากผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างดัชนีหุ้นทั่วโลก (MSCI All Country World Index) ปรับเพิ่มขึ้น 11.5% ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดี หนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสงครามที่ใช้อาวุธและกำลังคน หรือสงครามการค้าและเทคโนโลยี ดังนั้น ธนาคารจึงร่วมมือกับลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) นำเสนอกลยุทธ์และแนวทางจัดพอร์ตลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงมองเห็นโอกาส และสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเติบโตของพอร์ตลงทุน และต่อยอดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

โดยนายโฮมิน ลี Senior Asia Macro Strategist, Lombard Odier (Singapore) อธิบายว่า กลุ่มลอมบาร์ด มีมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจช่วงปีครึ่งหลัง จึงประเมินว่าภาพรวมตลาดลงทุนจะยังสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นต่อได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง นำโดยภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตชิปที่กำลังเป็นความต้องการจากทั่วโลก ยังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งภายในปีนี้ ถึงแม้จะช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้ อีกทั้งยังมีการคาดหมายกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกครั้ง ซึ่ง Trump 2.0 จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ขณะที่ภาพตลาดหุ้นยุโรป หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยไปแล้ว และคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจยุโรปกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ส่วนตลาดหุ้นจีนยังคงเผชิญความท้าทาย ทั้งจากประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์ และสงครามการค้า ที่อาจยกระดับขึ้นมาจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ถึงแม้จะมีการคาดหมายกันว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่สาม (China’s Third Plenum) และการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง (China’s Politburo) ในเดือนกรกฎาคมนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องจับตาต่อไปว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกเพียงไร เพราะตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สัดส่วนการนำเข้าจากสินค้าจากจีนมาสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติก็ปรับลดลงด้วย





ขณะที่นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, K-Private Banking เสริมว่า ภาพรวมการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังสดใสต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก แม้เศรษฐกิจและการเมืองโลกจะยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามกันต่อไป ทำให้ KBank Private Banking ยังคงแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน โดยพอร์ตหลัก (Core portfolio) คิดเป็นสัดส่วน 50-70% ให้ลงทุนโดยเลือกกองทุนผสมแบบ Risk-based approach ที่กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้  สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งค่าความผันผวน (VIX Index) ที่ใช้หลักการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน ด้วยกลยุทธ์หลักที่บริหารเชิงรุกและยืดหยุ่นสูง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างสม่ำเสมอ และมีการควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตตลอดเวลาผ่านการลงทุนกองทุน All Roads Series ส่วนพอร์ตเสริม (Satellite portfolio) คิดเป็นสัดส่วน 30-50% ให้กระจายการลงทุนออกไปในทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก

โดยการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ให้น้ำหนักกับกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่น ถึงแม้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นมามากแล้ว แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ราคาหุ้นในปัจจุบันวัดจากปัจจัยพื้นฐาน (Valuation) แล้ว ยังถือว่าราคาไม่แพง และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-USA ขณะที่กองทุนหุ้นยุโรป ให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-EUSMALL

นอกจากนี้ยังแนะนำกองทุนหุ้นเวียดนาม ที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งราคาหุ้นในปัจจุบันวัดจากปัจจัยพื้นฐาน (Valuation) ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และในระยะยาวยังได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนามด้วย โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน PRINCIPAL-VNEQ

สำหรับตราสารหนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (US Bond Yield) ที่ทรงตัวในระดับสูงและมีโอกาสปรับลงในระยะข้างหน้า เมื่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมีความน่าสนใจ และยังมีโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างราคาเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยลงมา อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-GDBOND และเสริมพอร์ตการลงทุนด้วยหุ้นกู้ในภูมิภาคเอเชีย ผ่านกองทุน K-APB ที่ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังแข็งแกร่ง





ขณะที่การลงทุนทางเลือก แนะนำกองทุนทางเลือกที่มีกลยุทธ์ซื้อขายสกุลเงินหลักของโลก ที่เน้นลงทุนในสกุลเงินหลัก ที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน DAOL-FXALPHA-UI

ประการสำคัญ การลงทุนจะยังต้องให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผันผวนให้พอร์ต เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอและสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว ดูได้จากภาพช่วงครึ่งปีแรก ที่ตลาดหุ้นหลายภูมิภาคทยอยสลับกันทำจุดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ และ น้ำมัน ก็สร้างกำไรได้ เช่นดียวกับตลาดตราสารหนี้ แม้ราคาจะยังต่ำอยู่ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยยังทำได้ดีจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้