EA ไขทุกข้อสงสัยเรื่องพื้นฐานธุรกิจ พร้อมย้ำฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง หวังกู้วิกฤตศรัทธา

5342 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EA ไขทุกข้อสงสัยเรื่องพื้นฐานธุรกิจ พร้อมย้ำฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง หวังกู้วิกฤตศรัทธา


 

การทรุดตัวของราคาหุ้นกลุ่ม บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่เกิดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมา ต่อเนื่องด้วยมรสุมข่าวลือที่โหมกระหน่ำไม่หยุดหย่อน จนทำให้เกิดการ Short Sell อย่างต่อเนื่อง จนนำมาซึ่งการบังคับขายหุ้น (Force Sell) อย่างหนักหน่วง แม้แต่นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังได้รับผลกระทบจากการถูกสถาบันการเงินขายหุ้นที่นำไปค้ำประกันเงินกู้ ในสัดส่วน 3% แม้จะพยายามหาทางออกหลายวิธีกับสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผลกระทบส่วนตัว และไม่กระทบต่อพื้นฐานการทำธุรกิจของ EA แต่อย่างใด

ประการสำคัญ การถูก Force Sell จบลงไปแล้ว และนายสมโภชน์ยังคงถือหุ้นใหญ่ใน EA ในสัดส่วนมากกว่า 33% ซึ่งหากคิดรวมหุ้นในมือพันธมิตร จะยังคงถือหุ้นมากกว่า 50%  ทำให้โครงสร้างการบริหารและจัดการธุรกิจยังเป็นไปตามแผนงานเดิม อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง จึงไม่มีปัญหาทั้งเรื่องการรุกขยายธุรกิจ และการเตรียมความพร้อมชำระคืนหนี้หุ้นกู้เดิมกว่า 5.5 พันล้านบาท ด้วยการออกหุ้นกู้ล๊อตใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่หากแผนออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ ไม่สามารถระดมทุนได้ตามแผน บริษัทฯ ยังมี Cash Flow จากธุรกิจอื่นที่เข้าไปลงทุนเข้ามาเสริมส่วนหนึ่ง รวมถึงเตรียมวงเงินจากสถาบันการเงินไว้เป็นแผนสำรอง

และเพื่อยุติข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องกระแสเงินที่ลดลงจากค่า Adder ของโรงไฟฟ้าที่จะทยอยหมดลงตั้งแต่ปีหน้า จาก 9,000 ล้านบาท เหลือ 5,000 ล้านบาท ในปี 2573 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ได้ออกโรงชี้แจงว่า ถึงแม้ Adder จะหมดลงไป แต่ยังคงเหลือรายได้จากค่าไฟฐานอยู่ ที่สำคัญ การไม่มีระบบ Adder แต่ราคาในการขายไฟฟ้ายังสูงกว่าราคาในระบบ FiT ตรงที่ไม่มีวันหมดอายุ เทียบกับระบบ FiT ที่มีอายุเพียง 25 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้คราวละ 5 ปี สร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการวางแผนรองรับ ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก ทั้งการลงทุนด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า และการหาโครงการใหม่ๆ สร้างรายได้ขึ้นมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในจังหวัดภูเก็ตขนาด 9.9 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2569 รวมถึงการเข้าไปบริหารศูนย์จัดการขยะบนพื้นที่เกาะล้าน ด้วยสัญญาเริ่มต้นเป็นเวลา 5 ปี หรือการสร้าง Product Champions ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ไล่ตั้งแต่การจับมือกับ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันพืชปรุงอาหารที่ใช้แล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 3 นี้ ด้วยกำลังการผลิตวันละ 100,000 ลิตร ต่อเนื่องไปถึงการร่วมผลิตหัวรถจักรไฟฟ้า ร่วมกับกลุ่ม CRRC Dalian ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจรถไฟความเร็วสูงของจีน เพิ่มเติมจากการให้บริการแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ Li-ion การประกอบรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จที่มีหัวชาร์จ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร Ultra-fast Charge ในระดับโลก มากกว่า 2,000 จุด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ และขยายความร่วมมือกับรัฐบาล สปป. ลาว ตั้งบริษัท Super Holding ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนใน สปป. ลาว โดยในช่วง 1 ปีแรก สามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่าน Super Holding ได้ 3,000 MW จากเขื่อนทั้งหมดที่มีกำลังการผลิตรวม 7,000 MW สร้างการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

 

 

 

ซึ่งเมื่อลงลึกรายละเอียดในแต่ละธุรกิจ ก็พบว่า ธุรกิจโรงงานแบตเตอรี่ของ EA ซึ่งหลายฝ่ายกังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขัน หลังจากราคาแบตเตอรี่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาบริษัทฯ และพันธมิตร ได้ทำการศึกษาพร้อมกับปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต จนทำให้ต้นทุนปัจจุบันอยู่ใกล้เคียงระดับที่สามารถแข่งขันได้

ด้านรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท ไทยสมายบัส จำนวน 2,000 คัน เริ่มมีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 350,000 คน ทำให้คาดว่า จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนในปีหน้า 

ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ผ่าน บมจ. เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเพิ่มทุนเพื่อให้มีเงินทุนมากพอสำหรับการทำธุรกิจอย่างราบรื่นในระยะยาว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า คู่ค้า และซัพพลายเออร์ โดยมีแผนเดินหน้าผลิตและส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน พร้อมเร่งขยายการเติบโตระยะต่อไปจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทาง EA และนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ได้เตรียมเงินสดสำหรับการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่ม EA ในระยะต่อไป เห็นผลในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อสัดส่วนรายได้จากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จะสูงกว่ารายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า

การออกมาให้สัมภาษณ์ของนายสมโภชน์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ และศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่ม EA แม้จะตอกย้ำให้เห็นว่า การทรุดตัวของราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงทางธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ภาพธุรกิจระยะสั้น ที่ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และนักกลยุทธ์หลายสำนัก อยากรอดูภาพที่ชัดเจนที่จะเกิดขึ้นก่อน โดยเฉพาะความสำเร็จในการส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดหลังจากแผนเพิ่มทุนแบบ PP ครั้งแรกแล้วเสร็จ ในไตรมาส 3 นี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่า ราคาขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรก อาจต้องปรับลดลงมาให้สอดคล้องกับราคาในตลาด ซึ่งจะทำให้ได้เม็ดเงินระดมทุนก้อนใหม่ต่ำกว่าแผนเดิม จึงแนะนำ wait and see 

แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว อาจทยอยซื้อสะสมได้ เพราะหากเปรียบเทียบราคาหุ้นล่าสุด กับมูลค่าพื้นฐานเฉลี่ยที่ตลาดให้ไว้ล่าสุด ที่ 22.60 บาท ถือได้ว่า มี upside เกินกว่า 35%  

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้