CHAYO เดินหน้าแผนดัน CCAP เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจปล่อยสินเชื่อ

4690 จำนวนผู้เข้าชม  | 

CHAYO เดินหน้าแผนดัน CCAP เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจปล่อยสินเชื่อ



นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งแบบไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยความคืบหน้าในการนำ บมจ. ชโย แคปปิตอล (CCAP) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ว่า ทาง บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 125 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยมีราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

สำหรับวัตถุประสงค์ในการผลักดัน CCAP เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน เกิดจากบริษัทฯ ต้องการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจภายในกลุ่มให้มีความชัดเจน โดย CCAP จะทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก ส่วนบริษัทแม่ CHAYO จะทำธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และบริษัทย่อยที่ไม่ใช่ CCAP จะทำธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน และศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า หรือธุรกิจอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเต็มตัว ผลักดันให้ทั้งกลุ่ม CHAYO เติบโตอย่างยั่งยืน

ในเบื้องต้น บริษัทฯ มีแผนจัดสรรหุ้น IPO ไม่เกิน 12.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10% ให้กับผู้ถือหุ้น CHAYO เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเป็นการล่วงหน้าด้วย และ CCAP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยเหมือนเดิม เพราะ CHAYO จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนการถือหุ้น ในสัดส่วน 53.4% ของทุนชำระแล้ว เทียบกับก่อน IPO ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 71.3%  

 



ด้านนายณฐพล ทิพชัชวาลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CCAP ชี้แจงว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคาร และบริษัทแม่บางส่วน และใช้สำหรับขยายพอร์ตสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน เป็นส่วนใหญ๋

สำหรับโครงสร้างรายได้ กว่า 85% มาจากการให้บริการสินเชื่อแบบมีหลักประกัน ในรูปแบบสินเชื่อประเภทจดจำนอง หรือขายฝากสินทรัพย์ (Secured Loan) เน้นไปที่บุคคลธรรมดา หรือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน หรือสามารถเข้าถึงได้เพียงบางส่วน เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับขยายธุรกิจ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ทั้งเงื่อนไขการกู้ยืมที่มีระยะเวลาผ่อนชำระ 12 เดือน และวงเงินสินเชื่อที่ไม่เกิน 50-60% ของมูลค่าหลักประกัน

ที่เหลือ 15% เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ครอบคลุมทั้งสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน ให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า สินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ (P-Loan) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ซึ่งบริษัทฯ จะจำกัดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KGI เสริมว่า CCAP มีจุดแข็งตรงผู้บริหารมีประสบการณ์ มีความเข้าใจในธุรกิจปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างดี ทำให้มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถผลักดันให้ผลดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างโดดเด่น และพร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคต จากฐานเงินทุนที่ได้จากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทแม่เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

โดยผลดำเนินงานปี 2564-65 บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยขยายตัวจาก 13.6 ล้านบาท เป็น 77.0 ล้านบาท สาเห00ตุจากมีการเติบโตของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งมีทั้งลูกค้ารายเดิมที่ขอกู้เพิ่ม และลูกค้ารายใหม่ หนุนด้วยการเติบโตของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดด จาก 5.6 ล้านบาท มาอยู่ที่ 39.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 41.0% และ 50.3% ตามรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเติบโตของต้นทุนค่าบริการและค่าใช้จ่าย ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.74% เป็น 0.95% หลังมีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า





ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 27.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งที่รายได้ดอกเบี้ยจะเติบโต 42.21% มาอยู่ที่ 75.8 ล้านบาท สาเหตุจากอัตรากำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 36.9% สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงานที่โอนย้ายมาจาก CHAYO ตลอดจนมีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากลูกหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาจากต่ำกว่า 1.00% มาเป็น 1.38%

ทั้งนี้ CCAP มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม จากการที่บรรยากาศการลงทุนมีความผันผวนสูง และมีความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะตลาดการเงิน ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ เห็นควรเลื่อนแผนเสนอขายหุ้น IPO ออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้ CCAP มีเวลาในการสร้างฐานลูกค้ามากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้นักลงทุนมองเห็นศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น  

 



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้